กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมหม่อนไหม จัดงาน"โฮมฮักเส้นใยไหม ร่วมใจภักดิ์พระมารดาแห่งไหมไทย" พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์หม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหม จังหวัดบุรีรัมย์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จัดงาน "โฮมฮักสายใยไหม ร่วมใจภักดิ์พระมารดาแห่งไหมไทย" เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การเปิดตัวหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยเฉลิมพระเกียรติฯ และเปิดศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์หม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหมของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งนับเป็นการเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีกทางหนึ่งด้วยเนื่องจากจังหวัดบุรีรัมย์มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและยังมี"ผ้าซิ่นตีนแดง" ซึ่งเป็นผ้าไหมที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดที่ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว
ดร.สฤษดิพร ชูประยูร รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์หม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหมของจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ภายในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายในศูนย์เรียนรู้ประกอบด้วยจุดดูงานผ่านการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงของแต่ละฐาน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยแบ่งออกเป็นฐานต่าง ๆ ได้แก่ ฐานหม่อน แสดงระบบการดูแลแปลงหม่อน ตั้งแต่กระบวนการปลูก การให้น้ำและการตัดแต่งกิ่งหม่อน ฐานไหม แสดงวงจรชีวิตหม่อนไหม ฐานสาวไหม สาธิตการสาวไหมและการฝึกปฏิบัติ ฐานฟอกย้อมสีไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ แสดงไม้ย้อมสีต่าง ๆ สาธิตและฝึกปฏิบัติ ฐานการทอผ้า สาธิตและฝึกปฏิบัติการทอผ้า และฐานการแปรรูปสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมหม่อนไหม ดำเนินการจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหมขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านหม่อนไหมและองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับหม่อนไหมให้แก่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปเพื่อให้มีความรู้และตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับหม่อนไหมมากขึ้น สามารถอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมและเกษตรกรสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหมอีกด้วย