กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--hfocus
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวว่า การรักษาคนไข้ด้วยระบบบัตรทองมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ แต่ด้วยงบประมาณจำกัดทำให้การรักษามีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ไม่มีเงินไปจ้างคนมาบริการให้ดี หรือครบครันเพียงพอ ส่งผลให้การรอคอยของคนไข้จึงมีจำนวนมากแออัดแน่นโรงพยาบาล
กรณีที่มีการวิจารณ์ระบบบัตรทองมีงบประมาณจำกัดทำให้ต้องจ่ายยาเหมาโหลกับผู้ป่วยนั้น นพ.สุรโชค กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง แต่การจ่ายยาจำเป็นต้องเลือกที่จำเป็นจริงๆ ยาประเภทใดไม่จำเป็นก็ต้องตัดออก รวมถึงวิตามินเสริมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตัดยาที่ทำให้คนไข้มีปัญหา และยืนยันว่า ยาตามระบบบัตรทองดีกว่าคลินิกบางแห่งเพราะคลินิกจะมีเจ้าของคนเดียวเป็นผู้รับผิดชอบ แต่โรงพยาบาลมีขั้นตอน ผ่านการดูแลจากหลายส่วนทั้ง ผู้บริหาร เภสัชกรรม แพทย์ผู้ใช้ยาที่คอยคัดกรอง ถ้าผู้บริหารเลือกยามาไม่ดี ราคาถูกมาก ไม่มีคุณภาพ ผู้บริหารก็จะเสียหายเอง และแพทย์เองก็ไม่ใช้อยู่แล้วเพราะต้องเจอกับคนไข้โดยตรง
"ประเด็นเรื่องยาแย่ไม่ใช่แน่นอน แต่เราเลือกยามากขึ้น อย่างตอนนี้มีการประมูลจัดซื้อยาด้วยระบบ Price Performance หรือหลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา เราไม่ได้ดูที่ราคาอย่างเดียว แต่เราเอาคุณภาพ 60% ก็คือว่า ต้องเป็นบริษัทที่ผ่านมาตรฐานได้การรับรองมีคุณภาพ อย่างตอนนี้ยาฆ่าเชื้อตัวที่ดื้อยา เราใช้ยานอกหมด เพราะความสามารถของบริษัทยาในประเทศไทยทำไม่ได้ แต่ถ้ายาตัวไหนของบริษัทไทยที่แข่งขันใช้ได้ผ่านเกณฑ์ เราก็ถือว่าใช้ได้" นพ.สุรโชค กล่าว
ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวว่า ระบบบัตรทองใช้มานานหลายปีและมีความพยายามลดรายจ่ายค่ายาให้ถูกลง โดยที่ก็ยังยึดหลักประสิทธิภาพด้วย ปัจจุบันไม่สามารถลดราคายาที่จ่ายให้ผู้ป่วยได้ต่ำกว่านี้แล้ว เพราะได้ทำมาสุดทางจากปัญหางบประมาณจำกัด ซึ่งปัจจุบัน รมว.สาธารณสุข ได้มีนโยบายเรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสม เช่น โรคบางชนิด เลิกใช้ยาบางประเภทแล้ว ทางโรงพยาบาลก็ควรเลิกใช้ทั้งหมด เพื่อสกัดกั้นยาเหล่านั้นไม่ให้เข้ามาโรงพยาบาล ตรงนี้สามารถประหยัดค่ายาได้เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะนำงบประมาณไปซื้อยาที่จำเป็นให้ได้คุณภาพดี
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้างบประมาณยังจำกัดอย่างนี้ หลายโรงพยาบาลจะไม่มีเงินจ่ายบริษัทยา ที่ผ่านมาก็พยายามแก้ปัญหาระหว่างโรงพยาบาลด้วยกัน โรงพยาบาลใหญ่ก็นำเงินไปช่วยจ่ายให้กับโรงพยาบาลเล็ก แต่ไม่รู้ว่า สภาพปัญหาเช่นนี้จะช่วยแก้กันได้อีกกี่ปี
ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวว่า ในแง่หมอ แพทย์ลงความเห็นว่าระบบบัตรทองหรือ 30 บาท เป็นเรื่องทื่ดี ขอยกตัวอย่างว่า ในอดีตคนไข้เบาหวาน ไม่ยอมมารับยา เพราะสู้ราคายาไม่ไหว แต่ปัจจุบันเราไม่เจอคนไข้ลักษณะนี้อีกแล้ว ยืนยันว่า นโยบายดีและไม่มีใครคิดล้มเพราะทุกคนอยากให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากที่สุด
นพ.สุรโชค เสนอแนะว่า การที่จะให้ระบบบัตรทองยั่งยืนต้องช่วยกันคิดปรับปรุง แต่ถ้าไม่คิดก็จะมีปัญหา เหมือนกับว่า เราใช้ของดีเมื่อ 100 ปีก่อน แล้วบอกว่า มันดีแล้วจนใช้ต่อเนื่องอีก ก็ต้องเกิดปัญหาในที่สุด ทางออกมีหลายวิธี โดยเฉพาะการร่วมจ่ายซึ่งผู้บริหาร รพ.ทุกคนรู้ดี ที่ผ่านมามีการไปดูงานระบบร่วมจ่ายมาตลอด แต่ไม่มีใครกล้าพูดหรือตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหาแบบไหนเพราะกลัวถูกตีว่า จะล้มระบบบัตรทอง