กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรปลอดภัย และได้ดำเนินยุทธการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยได้ผลักดันแก้ไข พรบ. ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ ฉบับใหม่ คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในปลายปี 2559 นี้ ซึ่งปัจจุบันมีโรงฆ่าสัตว์ได้รับใบอนุญาต (ฆจส. 2) เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,235 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นโรงฆ่าของภาครัฐ 507 แห่ง และ ภาคเอกชน 1,728 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 239 แห่ง ขนาดกลาง 618 แห่ง และขนาดเล็ก 1,378 แห่ง
น.สพ.สรวิศ ธานีโต กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จึงได้ดำเนินการจัดระเบียบโรงฆ่าสัตว์และยกมาตรฐานอาหารปลอดภัย ในช่วงปี 2558 - 2559 มีผลการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ การจับกุมดำเนินคดีโรงฆ่าสัตว์เถื่อน 190 แห่ง การยกเลิกใบอนุญาต 142 แห่ง การพักใช้ใบอนุญาต 3 แห่ง แจ้งเตือนให้ปรับปรุง 200 แห่ง มีการตรวจสอบสารตกค้าง (สารเร่งเนื้อแดง) ในโรงฆ่าสุกรและโค 434,867 ตัว กักสัตว์ก่อนเข้าฆ่า 6,807 ตัว ดำเนินคดี 37 ฟาร์ม รวมถึงมีการชี้แจง ส่งเสริมและพัฒนาโรงฆ่าสัตว์สู่มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดในปี 2559 ในเรื่องการตรวจสอบและให้การรับรอง GMP/HACCP จำนวน 80 แห่ง การตรวจติดตามโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต (ฆจส. 2) จำนวน 2,235 แห่ง และฝึกอบรมผู้ประกอบการ 300 คน และพนักงานตรวจโรคสัตว์ 500 คน
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุง พรบ. ควบคุมการฆ่าสัตว์ (ฉบับใหม่) โดยใบอนุญาตโรงฆ่าสัตว์จะมีอายุ 5 ปี หากโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปรับปรุง จะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต การดำเนินโครงการ "ปศุสัตว์ OK" เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ โดยสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์"ปศุสัตว์ OK"ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเนื้อสัตว์มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน และผลิตจากฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ซึ่งในปี 2559 ตั้งเป้าหมายจุดจำหน่าย ปศุสัตว์ OK จำนวน 2,000 แห่ง ซึ่งปัจจุบันได้รับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์ OK) จำนวน 2,616 แห่ง ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยในปี 2560 จะเพิ่มจำนวนอีก 2,000 แห่ง รวม 4,000 แห่ง
สำหรับแผนการดำเนินงานระยะต่อไป จะมีการจัดกลุ่มจำแนกโรงฆ่าสัตว์ เพื่อกำหนดทิศทางการยกระดับมาตรฐานอย่างชัดเจน แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 โรงฆ่าสัตว์ที่สามารถพัฒนายกระดับสู่มาตรฐาน GMP/HACCP เทียบเท่ามาตรฐานสากลและส่งออกได้จำนวน 80 แห่ง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ตามแผนงาน ให้สามารถปรับปรุงให้แล้วเสร็จได้ทันที ภายใน 6 เดือน กลุ่มที่ 2 มีศักยภาพความพร้อมพอที่จะพัฒนาเข้าสู่มาตรฐาน GMP ภายในประเทศจำนวน 159 แห่ง กลุ่มที่ 3 สามารถปรับปรุงพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานสุขอนามัยการฆ่าสัตว์ขั้นพื้นฐานแต่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนในการปรับปรุง จำนวน 618 แห่ง โดยทั้งกลุ่มที่ 2 และ 3 มีเป้าหมายในการพัฒนายกระดับจากมาตรฐานขั้นพื้นฐาน ฆจส. 2 สู่มาตรฐาน GMP ภายในระยะเวลา 2 - 3 ปี และ กลุ่มที่ 4 มีศักยภาพน้อยที่จะปรับปรุงเข้าสู่มาตรฐาน จำนวน 1,378 แห่ง ผู้ประกอบการต้องการปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานสุขอนามัยการฆ่าสัตว์ขั้นพื้นฐานหรืออาจมีการรวมกลุ่มกันพัฒนา แต่หากไม่สามารถปรับปรุงได้ จะต้องถูกยกเลิกใบอนุญาต
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต (ฆจส. 2) เพื่อปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐานขั้นพื้นฐาน ตามที่กฎหมายกำหนด โดยตั้งเป้าภายในปี 2560 ต้องไม่มีโรงฆ่าสัตว์เถื่อน
นอกจากนี้ ยังได้เร่งตรวจสอบสุขอนามัยโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่ง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากไม่ผ่านเกณฑ์สุขอนามัยจะถูกแจ้งเตือน พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต มีการกำหนดเป้าหมายให้โรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่พัฒนาสู่มาตรฐาน GMP ทั้งหมดภายในปี 2563 รวมถึงได้มีการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการรายย่อย/โรงฆ่าขนาดเล็ก การส่งเสริมให้โรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็กยกระดับปรับปรุงเข้าสู่มาตรฐานขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ภายในปี 2565 หากผู้ประกอบการไม่ผ่านเกณฑ์สุขอนามัยจะถูกแจ้งเตือน พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต อีกทั้งได้มีการฝึกอบรมและกำกับดูแลให้มีพนักงานตรวจโรคสัตว์อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่น และขยายผลโครงการปศุสัตว์ OK ให้มีจุดจำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเนื้อสัตว์ปลอดภัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2563 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถรับรู้ได้ว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวที่ผ่านการเลี้ยงดูและมีการชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานต่อไป