กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเวทีสัมมนาระดมความเห็นจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี 2560 – 2564 ดึงทุกภาคส่วนร่วมเสวนา หวังเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ให้สมบูรณ์ ครอบคลุม พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างทันสถานการณ์และสร้างการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี2560 – 2564 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ ซึ่ง สศก. ร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการกำหนดและวางแผนกลยุทธ์การดำเนินงานของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร ฉบับที่ 2 เพื่อให้มีความครอบคลุม เป็นรูปธรรม และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ธุรกิจเกษตร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
สำหรับการสัมมนาดังกล่าว ได้มีการเสวนาในหัวข้อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเกษตรและแนวทางการรับมือ การอภิปรายในประเด็นความท้าทาย แนวทางการปรับตัว และการมีส่วนร่วมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน ผลการประเมินความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ฉบับที่ 1 (ปี 2556-2559) ตลอดจนการสัมมนากลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นต่อสภาพปัญหา ความคาดหวัง และข้อเสนอแนวทางการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยวิทยากรทั้งจากภาครัฐเอกชน และสถาบันการศึกษา
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2553 พบว่า ภาคเกษตรของไทยมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสอง (ร้อยละ 22.6) รองจากภาคพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด (ร้อยละ 69.9) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรของไทยจึงมีความสำคัญ ทั้งจากแรงกดดันของโลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร อาจใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรม เป็นภาคการผลิตที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรรายย่อยและชาวประมงชายฝั่งพื้นบ้าน ซึ่งมีวิถีการผลิตที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เมื่อภูมิอากาศมีความแปรปรวน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกำหนดวันเพาะปลูกได้เหมือนในอดีต การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่สูงขึ้น ลดลง ยังมีผลต่อการอยู่รอดและการขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้มีการระบาดของโรคและแมลง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ภาคเกษตรจึงจำเป็นจะต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานทรัพยากรและสภาพที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการวางแผนที่ดีและสอดคล้องต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรของประเทศไปสู่เกษตรกรรม ยั่งยืนแล้ว ยังจะทำให้ประเทศไทยสามารถการสร้างความได้เปรียบในการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่ม AEC ด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่า ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี 2560-2564 ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์มีความสมบูรณ์เกิดประโยชน์ต่อสร้างความเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมและเตรียมพร้อมในการรับการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ รวมถึงข้อตกลงต่างๆ ตามบริบทโลกต่อไป