กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ช่วยให้การสื่อสารในปัจจุบันมีความรวดเร็วขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ในยุคนี้นิยมใช้วิธีส่งภาพหรือข้อความสั้นๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือและสื่อโซเชียล เพื่อสื่อสารความรู้สึกถึงกันได้อย่างง่ายดาย ซึ่งวันแม่ที่ผ่านมาหลายคนคงส่งความรู้สึกในใจผ่านสื่อกลางเหล่านี้ จนลืมว่า "การเขียน" ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีของการสื่อสารที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะสามารถถ่ายถอดความคิดและอารมณ์ความรู้สึกแทนคำพูดได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้แลคตาซอยจึงได้จัดการประกวดเขียนเรียงความในโครงการแลคตาซอยรักแม่ 2559 ภายใต้หัวข้อ "เขียนด้วยมือ... สื่อถึงใจ ให้แม่อ่าน" ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รู้จักการแสดงความรู้สึกที่มีต่อแม่ผ่านการสื่อสารด้วยตัวอักษร
นางสาวพรรวนา มหาทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและการตลาดสัมพันธ์ บริษัท แลคตาซอย จำกัด กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และรณรงค์ให้เห็นความสำคัญในการเขียนและใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าประกวดออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษารวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาทและยังมีรางวัลพิเศษ อีกจำนวน 200 รางวัล
"ผลตอบรับของโครงการในปีนี้ถือเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดถึง 13,000 คน และจากการที่ได้อ่านผลงานก็ทำให้รู้ว่ายังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง สามารถเขียนบรรยายความรู้สึกผูกพันที่มีต่อแม่ได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งแลคตาซอยเองก็มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนส่งเสริมการแสดงความรักของคนในครอบครัว และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี" นางสาวพรรวนา กล่าว
หลังจากการคัดเลือกอย่างเข้มข้นในที่สุดก็ได้ผู้ชนะเลิศของทั้ง 4 ระดับเป็นที่เรียบร้อย โดยรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนต้น ได้แก่ เด็กชายวีระกิตติ์ เจนจัดทรัพย์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ ซึ่งเผยว่า ฝึกอ่านและเขียนภาษาไทยเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะได้รางวัลชนะเลิศเนื่องจากลายมือไม่ค่อยสวย
"แม่ของผมเป็นผู้หญิงที่ไม่เหมือนใคร เพราะแม่ของผมเป็นคนแข็งแรงทำได้ทุกอย่างทั้งขับรถ ขายของ ทำงานบ้าน หรือแม้แต่ตอนผมไม่สบายก็คอยเช็ดตัวให้ทั้งคืน นอกจากนี้แม่ยังสอนผมเสมอว่าให้ตั้งใจเรียนและเป็นคนดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้ว่าแม่รักผมมากแค่ไหนและผมก็รักแม่มากที่สุด" น้องวีระกิตติ์เล่าให้ฟังถึงข้อความที่เขียนส่งเข้าประกวด
สำหรับ เด็กชายปวีณวัชร์ แสวงทรัพย์ จากโรงเรียนไผทอุดมศึกษา ได้รางวัลชนะเลิศประถมศึกษาตอนปลาย เอ่ยว่า เห็นโครงการแลคตาซอย รักแม่ จากทางเว็บไซต์และเห็นว่าน่าสนใจเลยเข้าร่วมการประกวด ซึ่งต้องลบและเขียนใหม่อยู่หลายครั้งถึงจะได้ข้อความที่อ่านแล้วเข้าใจ
"ในความคิดผมแม่คือผู้ให้ชีวิตและรักผมยิ่งกว่าชีวิต ผมรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่อยู่ในอ้อมกอดแม่ และแม่ยังเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดของผมทำให้ผมรู้ถึงพลังของคำว่ากำลังใจ สุดท้ายมีคนเคยบอกว่าบ้านต้องมีรั้วสูงๆ ถึงจะปลอดภัยผมว่าไม่จริงหรอก ผมขอแค่มีแม่อยู่ในบ้านคอยดูแลและปกป้องคุ้มครองเรา แค่นี้ลูกอย่างผมก็สุขใจและปลอดภัยที่สุดแล้ว" น้องปวีณวัชร์กล่าว
ส่วนผู้ชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาคือ นายสันติธรรม ครุฑธา จากโรงเรียนชะอำคุณหญิงเนื่องบุรี โดยเผยว่า การได้รางวัลชนะเลิศส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณพ่อ ซึ่งเป็นครูวิชาภาษาไทยที่สอนให้เขียนมาตั้งแต่เด็กจนทำให้ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง และต้องขอบคุณแลคตาซอยที่เปิดโอกาสให้ตนเองได้พัฒนาฝีมือการเขียนให้ดีขึ้น
"แม่ยอมให้ผมไปต่อม.ปลายอีกจังหวัดหนึ่งเพื่ออนาคตกับวอลเลย์บอลที่ผมรัก ซึ่งตอนนี้ผมติดทีมชาติชุดเยาวชนและสามารถนำแชมป์ระดับประเทศไทยมาให้แม่ได้แล้ว ผมไม่รู้ว่าแม่มีความสุขมากแค่ไหนแต่อีกไม่เกิน 4 ปี ผมจะทำให้แม่มีความสุขครั้งใหญ่ด้วยการบวชให้แม่ครับ" นายสันติธรรมเล่าเสร็จก็หันไปยิ้มให้กับแม่ทันที
สุดท้ายคือรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษารวมถึงประชาชนทั่วไป ได้แก่ นางสาวสุกัญญา แก้ววรรณ นักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ "แม่ทำงานหนักมาตลอดเพื่อให้หนูและน้องมีอนาคตที่ดี แต่แล้ววันหนึ่งความเจ็บปวดในร่างกายก็พรากแม่ไปจากหนู ตอนนี้แม้จะไม่มีแม่คอยอยู่เคียงข้าง แต่หนูสัญญาว่าจะทำทุกอย่างที่แม่สอนให้ดีที่สุด" นางสาวสุกัญญา กล่าว
ผู้ชนะเอ่ยต่อว่า การที่แลคตาซอยจัดโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมา ทำให้ตนเองได้เขียนเรียงความอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้เขียนมานานหลายปี ซึ่งทำให้รู้ว่าการเขียนมีความหมายกว่าการพิมพ์มากแค่ไหน
ในขณะที่กรรมการตัดสิน อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาดาว้องก์ กล่าวว่า การเขียนแต่ละระดับมีความแตกต่างกันถ้าระดับประถม รู้สึกแบบไหนก็เขียนอย่างนั้น ส่วนระดับมัธยมสามารถเรียบเรียงการเขียนได้ดีขึ้น และระดับอุดมศึกษารวมถึงประชาชนทั่วไป มีผลงานการเขียนอยู่ 2 แบบ คือ เขียนแบบธรรมชาติรู้ถึงแก่นว่าแม่คืออะไร อีกแบบคือมีการใช้ภาษาสละสลวยผ่านการขัดเกลา ซึ่งการตัดสินว่าใครควรได้รางวัลของแต่ละระดับนอกจากเกณฑ์การตัดสินในเรื่องของการสื่อความหมายของภาพ เนื้อหาการเล่าเรื่อง และการใช้ภาษาไทยแล้ว อาจารย์ยังมองว่าการเขียนที่ดีนั้น ต้องให้คนอ่านสัมผัสได้ถึงความจริงใจ และมีการร้อยเรียงที่อ่านแล้วรู้เรื่องว่ากำลังจะสื่อถึงอะไร นั่นแหละคือผู้ชนะสำหรับอาจารย์
"ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีคนเขียนด้วยลายมือน้อยลงบางคนยังเขียนผิดสะกดไม่ถูกก็มี เพราะติดการใช้ภาษามาจากสื่อโซเชียล ซึ่งการที่แลคตาซอยจัดโครงการนี้ขึ้นมาจะสามารถช่วยให้คนรุ่นใหม่เขียนได้อย่างถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้ครอบครัวกล้าที่จะแสดงความรักต่อกันอีกด้วย" อาจารย์ปิง กล่าวปิดท้าย