กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กทม.
นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. แจ้งว่า เนื่องจากพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์เป็นย่านพาณิชยกรรม และย่านชุมชนที่มีประวัติยาวนาน มีอาคารและสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีคุณค่า สมควรอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก เช่น บริเวณถนนเยาวราช ถนนทรงวาด และบริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ในขณะเดียวกันก็มีอาคารสูงอยู่ในพื้นที่ด้วย อีกทั้งการที่เขตสัมพันธวงศ์เป็นเขตเมืองชั้นในที่ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่อนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์ (เกาะรัตนโกสินทร์) กับพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (เขตบางรัก) ทำให้อาจมีปัญหาในการกำหนดทิศทางในอนาคตว่า จะมุ่งไปในเชิงอนุรักษ์ หรือพัฒนา ซึ่งแต่ละแนวทางจะส่งผลให้ภูมิทัศน์ของเมืองต่างกันโดยสิ้นเชิง
นายนิคมฯ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเหมาะสม มีแผนงานที่ปฏิบัติได้จริง กทม.โดยสำนักผังเมือง จึงมอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังดำเนินโครงการโดยให้ประยุกต์กระบวนการการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นมาใช้ในการศึกษา ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการมีการจัดประชุมร่วมกับผู้บริหารและประชาชนในท้องถิ่น เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นมาแล้วหลายครั้ง และเมื่อวันที่ 15 พ.ย.43 ได้มีการประชุมรับฟังการสรุปผล “โครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณย่านชุมชนเขตสัมพันธวงศ์” มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 20 คน ประกอบด้วย นายประวิทย์ พันธุ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ รองผู้อำนวยการ และข้าราชการในสำนักผังเมือง โดยมีคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาโครงการ
สำหรับสภาพปัญหาของเขตสัมพันธวงศ์และแนวทางการแก้ไขนั้น นายนิคมฯ กล่าวว่า จากการสรุปผลโครงการของคณะที่ปรึกษานั้น สภาพปัญหาที่พบได้แก่ ปัญหาความแออัดของตัวอาคาร การขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ขาดที่จอดรถ การจราจรติดขัด อากาศเป็นพิษ ตรอกซอยแคบยากแก่การบรรเทาอัคคีภัย อาคารมีค่าทางประวัติศาสตร์ มีสภาพทรุดโทรม ปัญหากิจกรรมค้าส่งและโกดังขัดแย้งกับนโยบายเมืองเก่า และปัญหาโครงสร้างพื้นฐานไม่สมบูรณ์ ส่วนแนวทางแก้ปัญหานั้น คณะที่ปรึกษาเสนอให้มีการจัดทำแนวทางการบูรณะพัฒนาอาคาร การจัดระบบทางเท้าเชื่อมย่านการค้า เชื่อมโยงการสัญจรกับสถานีรถไฟ รถไฟฟ้าในอนาคต พัฒนาระบบสาธารณูปโภค พัฒนากิจกรรมการบริการแทนที่การขนส่งและโกดัง ประยุกต์ใช้ระบบโบนัส ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้มากกว่าปกติ เพื่อแลกกับการอุทิศพื้นที่ให้กับสาธารณประโยชน์ และประการสุดท้ายที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ การพัฒนาระบบประชาคมเขตสัมพันธวงศ์ให้เข้มแข็ง
“ถ้าเราอยากให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในอนาคต ควรสร้างกลุ่มประชาคมของคนในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน และมีผู้นำที่สามารถตัดสินใจและพูดแทนชาวบ้านได้ ในส่วนของภาครัฐก็ควรอธิบายให้ประชาชนเห็นภาพ เข้าใจในประโยชน์ เพราะโครงการจะสำเร็จได้ต้องมีหลักประกันให้ประชาชน ทั้งนี้ โครงการลักษณะนี้ควรเริ่มทำในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน ซึ่งหากประสบความสำเร็จ พื้นที่ใกล้เคียงจะทำตามเอง” ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวในท้ายสุด--จบ--
-นศ-