กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.44) เวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงในด้านการควบคุมการใช้และการเก็บสะสมแก๊สคือกรมโยธาธิการ แต่ในฐานะผู้ปกครองท้องถิ่น กทม.ก็จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการหามาตรการความปลอดภัยให้แก่ประชาชนไม่ได้ กทม.จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องด้านการป้องกันอัคคีภัยจากแก๊สหุงต้มมาประชุมร่วมกัน ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักอนามัย กองป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตัวแทนกลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเขต บริษัท World Gas เป็นต้น สำหรับหลักการที่ได้หารือร่วมกันก็คือ ต้องมีการเพิ่มความเอาจริงเอาจังในด้านการใช้แก๊ส โดยเฉพาะด้านการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โดยจะจัดการอบรม ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแก๊สหุงต้ม เพื่อสามารถให้คำแนะนำแก่ประชาชนได้ถูกต้อง ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่กลุ่มผู้ใช้แก๊ส แบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ 1. ประชาชนและชุมชน 2. ผู้ประกอบการพาณิชย์ที่มีการเก็บสะสมแก๊สปริมาณไม่มาก เช่น ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย 3. ผู้ประกอบการพาณิชย์ที่มีการเก็บสะสมแก๊สปริมาณมากกว่า 500 ลิตร และต้องขออนุญาตจากกรมโยธาธิการ เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ในการนี้ สำนักอนามัยจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนการอบรมดังกล่าว และจะดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนเมษายน 2544 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งและเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย
นอกจากนี้ กทม. กำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้แก๊สให้เป็นมาตรการที่รัดกุม โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวกำลังผ่านสภากรุงเทพมหานครอยู่ในวาระที่2 และจะนำเข้าสู่วาระ 3ได้ในสมัยประชุมหน้า เดือนเมษายน 2544 และจากการประชุมร่วมกันก็มีข้อเสนอที่ได้รับความเห็นชอบจากหลายฝ่ายรวมทั้งบริษัทผู้จำหน่ายแก๊ส และจะมีการเสนอให้เพิ่มเติมเข้าไปในกฎหมายที่กำลังแก้ไข คือ จะไม่ให้ใช้เตาแก๊สปิคนิคในเขตกรุงเทพมหานครเพราะมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากที่ถูกต้องแล้วถังแก๊สและหัวเตาควรอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตรจึงจะปลอดภัย แต่เตาแก๊สปิคนิคที่ใช้หุงต้มอาหารตามร้านค้าและหาบเร่แผงลอยในที่ชุมชนทั่วไปนั้น ถังแก๊สและหัวเตาอยู่ติดกัน ตัวถังมีน้ำหนักเบาล้มง่าย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้--จบ--
-นศ-