ม.ศิลปากรขอเชิญทำข่าวโครงการอนุรักษ์ภาพฝีพระหัตถ์ และภาพจิตรกรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday October 3, 2001 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ม.ศิลปากร
ด้วยมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยความร่วมมือทางวิชาการกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอนุรักษ์ไร้พรมแดนแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาฝึกอบรม เผยแพร่และวิจัยด้านการอนุรักษ์ศิลปะของประเทศไทย ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ในระดับนานาชาติ
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว และมหาวิทยาลัยศิลปากรกำหนดจะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการแนะนำโครงการฯ ได้แก่ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรมขององค์การนักอนุรักษ์ได้พรมแดน ในหัวเรื่อง "ท้องฟ้าของพระเจ้า" ระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2544 การสัมมนาฝรั่งเศส-ไทย เพื่อระดมความคิดในการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานานชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2544
เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และแนะนำโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยศิลปากร กำหนดจัดการแถลงข่าวแนะนำโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัย ศิลปากร ในวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2544 เวลา 14.00 น. ณ ห้องลานจัน สำนักงานอธิการบดี มหาวทิยาลัยศิลปากร ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ตามกำหนดการที่แนบมาพร้อมนี้ มหาวิทยาลัยใคร่ขอเรียนเชิญท่านร่ามเป็นเกียรติในงานดังกล่าว พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำข่าวและเผยแพร่ข่าวให้ผู้สนใจได้ทราบโดยทั่วกันด้วย จักขอบคุณยิ่ง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกขอได้โปรดแจ้งการตอบรับได้ที่งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร. 02-880-7730 ภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2544
สำนักงานอธิการบดี งานประชาสัมพันธ์
โทร. 02-880-7730/ โทรสาร 02-880-7830
โครงการอนุรักษ์ภาพฝีพระหัตถ์ และ
ภาพจิตรกรรมที่ประดับบนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
และ การอบรมด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรม
1. ความเป็นมาของโครงการ
เนื่องจากทางสำนักพระราชวังได้ขอความอนุเคราะห์มายังมหาวิทยาลัยศิลปากรในการซ่อมภาพจิตรกรรมต่างๆ ที่ประดับอยู่บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งภาพจิตรกรรมฯ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากพระราชอาคันตุกะและราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ เพื่อแสดงถึงไมตรีจิตอันอบอุ่นและแน่นแฟ้นที่ประเทศดังกล่าวมีให้ต่อประเทศไทย ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยต่างๆ ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในวาระโอกาสต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพจิตรกรรมอันมีค่าและหาชมได้ยากยิ่ง แต่ปัจจุบันภาพเหล่านั้นบางส่วนได้ชำรุดเสียหายลงอย่างมากตามกาลเวลา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินการให้มีการอนุรักษ์ไว้เนื่องจากเป็นภาพอันทรงคุณค่าทั้งทางศิลปะและทางประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาในด้านการอนุรักษ์จิตรกรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี โดยในระยะแรกจะเป็นการซ่อมภาพจิตรกรรม จำนวน 29 ภาพ จากจำนวนภาพทั้งหมด 86 ภาพ
2. หลักการและเหตุผล
มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ โดยมีหลักสูตรการศึกษาและการค้นคว้าวิจัยที่ครอบคลุมถึงสาขาวิชาทางด้านศิลปะ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมนุษวิทยา รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และองค์กรกลุ่มอนุรักษ์ไร้พรมแดน (Restaurateurs Sans Frontieres- RSF) แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างสูงในด้านการอนุรักษ์โบราณสถานและศิลปกรรมทั่วโลก จึงเล็งเห็นความสำคัญร่วมกันในการอนุรักษ์ศิลปกรรมทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยได้ขยายขีดความสามารถในการเป็นสื่อกลางติดต่อกับต่างประเทศและระหว่างภูมิภาคเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรมในรูปแบบของการให้การศึกษาระดับสูง การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนบุคลากร นักวิชาการ และการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กว้างขวางออกไป อันเป็นการพัฒนาวิชาการในด้านอนุรักษ์ศิลปกรรมให้แตกแขนงสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียโดยรวม และเป็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างคณะจารย์ นักวิชาการนักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรและสาธารณชนที่สนใจ
3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่ออนุรักษ์ศิลปะในแง่ของจิตรกรรมอันทรงคุณค่าของชาติ
3.2 เพื่อพัฒนาการศึกษาวิจัย ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์ศิลปะ โดยมีศูนย์กลางตั้งอยู่ในประเทศไทยและเอื้อประ โยชน์แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลอ้างอิงแก่ประเทศอื่นๆ ได้
3.3 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้นคว้าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยาและมนุษยวิทยา รวมทั้งแขนงวิชาที่ เกี่ยวข้องระหว่างนักวิชาการไทยและตะวันตก อันจะนำไปสู่การแตกแขนงทางความคิดและการแลกเปลี่ยนโลกทัศน์ รวมไปถึงการ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
3.4 เพื่อเป็นการเรียนรู้ ปรับปรุงเทคนิคและวิธีการในการอนุรักษ์ศิลปกรรมแขนงต่างๆ ที่จะนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยอันจะเป็นประโย ชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศไทย และต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3.5 เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงหลักการ วิธีการปฏิบัติ ที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ โดยผ่านการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและเทคนิควิธีการปฏิบัติระหว่างบุคคลที่ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและ นักวิชาการแขนงต่างๆ
3.6 เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่ปัญญาชน ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีความพร้อมด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรม มีความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่น และมีความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
4. ระยะเวลาโครงการ
เดือนกันยายน 2544-เดือนกันยายน 2545
5. กิจกรรม
โครงการนี้ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
5.1 การเตรียมการ
5.11 การประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญ (องค์กรกลุ่มอนุรักษ์ไร้พรมแดน ณ เมืองอาวินยง ประเทศฝรั่งเศษ) สถานทูตฝรั่งเศส สำนักพระราชวัง และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเตรียมการ
5.12 ปรับปรุงสถานที่สำหรับซ่อมพระราชวัง และที่พักสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยเท่าที่จำเป็น (สำนักงานอธิการบ ดีตลิ่งชัน วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี) พร้อมจัดหาวัสดุและครุภัณฑ์ที่จำเป็น
5.13 การเก็บข้อมูล และสำรวจภาพที่ต้องการซ่อม โดยผู้เชี่ยวชาญ ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน และวิทยา เขตสารสนเทศเพชรบุรี
5.14 การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการที่ใช้
5.15 การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของกลุ่มอนุรักษ์ไร้พรมแดน (RSF) เพื่อแสดงผลงานที่ผ่านมารวมทั้งเทคนิควิธี การที่จะใช้ให้ผู้เชี่ยวชาญและสาธารณชนรับทราบ
5.2 การซ่อมแซมภาพ
5.2.1 การขนย้ายภาพไปยังสถานที่ซ่อม (สำนักงานอธิการบดีและ วิทยาเขตฯเพชรบุรี)
5.2.2 การจัดทำฐานข้อมูลของภาพในรูปสื่ออิเลคทรอนิกส์ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานการซ่อม และประเมิน ผล
5.2.3 การซ่อมแซมภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ และคณะฯ
5.2.4 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและรายงานความก้าวหน้า พร้อมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้โดยประสานงาน กับสถาบัน RFS ณ เมือง Avignon
5.3 การจัดทำรายงานการซ่อมภาพและเผยแพร่ผลงาน
5.3.1 จัดทำรายงานการซ่อมภาพแต่ละภาพ จำนวน 29 ภาพ
5.3.2 การจัดทำหนังสือ บันทึก สื่อแสดงผลงานการซ่อมภาพ
5.3.3 จัดนิทรรศการแสดงผลงานการซ่อม
5.3.4 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลโครงการ
5.4 การถ่ายถอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านการอนุรักษ์ภาพเขียนและศิลปกรรม
5.4.1 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ของ RSF
5.4.2 การจัดประชุมเตรียมการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ (Silpakorn's University International Restoration and Conservation Center)
5.4.3 การจัดอบรมความรู้แก่นักอนุรักษ์ ศิลปิน และผู้เกี่ยวข้องของชาวไทย เพื่อประโยชน์ในการสร้างนักอนุรักษ์ ชาวไทยให้ดำเนินการต่อไปได้
กำหนดการแถลงข่าว
แนะนำโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
วันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2544
ณ ห้องลานจัน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตลิ่งชัน
....................เวลา 13.45 น. - ลงทะเบียนสื่อมวลชน
เวลา 14.00 น. - อาจารย์พุฒ วีระประเสริฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงความเป็นมา
ของโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เวลา 14.20 น. - Mr. Guy de la CHEVALERIE, Cultural Conseiller Mme. Diane JOSSE, Cultural Attache ฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยกล่าวถึงความร่วมมือ
ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย ในการจัดตั้งศูนย์การอนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เวลา 14.40 น. - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมพิศ ขัตติยพิกุล
รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
กล่าวถึงกิจกรรมของโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เวลา 15.00 น. - Mr.Robert BOUGRAIN DUBOURG
ผู้อำนวยการองค์กรนักอนุรักษ์ไร้พรมแดนแห่งประเทศฝรั่งเศส
(Restaurateurs Sans Frontieres)
สาธิตวิธีการซ่อมภาพฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและภาพจิตรกรรม จำนวน 2 ภาพ
(ที่ได้ดำเนินการซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว) และฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับนิทรรศการด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรม
เวลา 15.30 น. - สื่อมวลชนซักถามและสัมภาษณ์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ