กทม.พร้อมนำแผนที่ GIS มาใช้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2001 10:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กทม.
นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า 25 % ของรายได้ของกรุงเทพมหานคร มาจากภาษีที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และอากรฆ่าสัตว์ ซึ่งในปี 2544 ได้ประมาณการรายรับไว้ 5071.40 ล้านบาท ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2544 (ต.ค.43 — มี.ค.44) กทม. จัดเก็บภาษีอากรทั้ง 4 ประเภท ได้มากกว่าประมาณการ (ที่กำหนดไว้ใน 2 ไตรมาสแรก) ถึง 363.47 ล้านบาท ดังนี้ ไตรมาสแรก (ต.ค-ธ.ค. 43) ภาษีบำรุงท้องที่ ประมาณการไว้ 5.17 ล้านบาท จัดเก็บได้ 5.28 ล้านบาท, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประมาณการไว้ 316.4 ล้านบาท จัดเก็บได้ 347.22 ล้านบาท, ภาษีป้าย ประมาณการไว้ 11.57 ล้านบาท จัดเก็บได้ 13.37 ล้านบาท, อากรฆ่าสัตว์ ประมาณการไว้ 2.8 แสนบาท จัดเก็บได้ 1.6 แสนบาท ไตรมาสที่ 2 (ม.ค. —มี.ค. 44) ภาษีบำรุงท้องที่ ประมาณการไว้ 45.31 ล้านบาท จัดเก็บได้ 42.37 ล้านบาท, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประมาณการไว้ 914.58 ล้านบาท จัดเก็บได้ 1,228.68 ล้านบาท, ภาษีป้าย ประมาณการไว้ 153.49 ล้านบาท จัดเก็บได้ 173.40 ล้านบาท, อากรฆ่าสัตว์ ประมาณการไว้ 3.7 แสนบาท จัดเก็บได้ 1.6 แสนบาท เมื่อรวมทั้ง 2 ไตรมาส ประมาณการภาษีอากรทั้ง 4 ประเภทไว้ 1,447.17 จัดเก็บได้ 1,810.64 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 363.47 ล้านบาท สาเหตุที่กทม.จัดเก็บภาษีได้เกินกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจาก กทม.ได้ปรับแนวทางการเก็บภาษีโดยให้แต่ละเขตเร่งจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ต้องเสียภาษีจำนวนมากที่สุดอันดับ 1-20 ในพื้นที่เขตก่อน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณใหม่ ดังนั้นใน 2 ไตรมาสแรกจึงจัดเก็บภาษีได้มากกว่าที่ผ่านมา ส่วนรายอื่น ๆ ที่เหลือก็จะทยอยจัดเก็บตามกำหนดต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า กทม.ได้ประมาณการรายรับทั้งหมดในปีงบประมาณ 2544 ไว้ 23,000 ล้านบาท แบ่งใช้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการและลูกจ้าง ค่าสาธารณูปโภค จำนวน 17,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 6,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน สะพาน สวนสาธารณะ สวนชานบ้าน ลานคนเมือง โครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียนแห่งใหม่อีก 12 โรงเรียน และโครงการเพื่อการศึกษา เป็นต้น ในการนี้ขอให้ ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมั่นใจว่า เงินภาษีของท่านจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างคุ้มค่า เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณต้องเป็นไปตามระเบียบราชการ นอกจากนี้งบประมาณที่จะใช้ในโครงการต่าง ๆ ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ คือ ได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนท้องถิ่น 60 คน ทำหน้าที่ดูแลการใช้งบประมาณให้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายการจัดทำ “แผนที่ภาษี” เพื่อการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยในช่วงแรกจะมุ่งเน้นไปที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นรายได้หลักของกทม. ที่ปีนี้ได้ประมาณการไว้ 4,650 ล้านบาท ในการดำเนินการจะนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (แผนที่ GIS) มาใช้ประโยชน์ในการกำหนดแผนที่ภาษี โดยขอข้อมูลการใช้ไฟฟ้า น้ำประปาของบ้านเรือนต่าง ๆ จากการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง และขอข้อมูลทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจจากกรมทะเบียนการค้า เพื่อตรวจสอบหาข้อมูลพื้นฐานว่าบ้านเรือนเหล่านั้นอยู่ในพิกัดภาษีหรือไม่ เช่น บ้านที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีแต่ใช้ไฟฟ้า น้ำประปาสูงผิดปกติจากการอยู่อาศัยทั่วไป กทม.ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าได้ประกอบธุรกิจหรือให้เอกชนเช่าสถานที่ประกอบธุรกิจหรือไม่ หากมีการประกอบธุรกิจดังกล่าวก็จะกำหนดให้เจ้าของอาคารหรือที่ดินมาเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ทั้งนี้ กทม.จะเร่งดำเนินโครงการ “แผนที่ภาษี” นำร่องในพื้นที่เขตราชเทวีในอีก 2-3 เดือนนี้ หากได้ผลดี สามารถจัดเก็บได้ทั่วถึง ในปีงบประมาณหน้าก็จะตั้งงบฯ ดำเนินการในเขตอื่น ๆ อีก 50 เขต และจะขยายผลนำไปใช้ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้ายต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ