กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (AEONTS) ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F2(tha)'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AEONTS พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวบริษัทเอง และสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่ AEONTS เป็นหนี่งในบริษัทสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย AEONTS เป็นหนี่งในผู้นำตลาดธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งยังมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ระดับเงินทุนของ AEONT ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา จากกำไรสะสมจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการรับมือกับความความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าระดับที่คาดการณ์ (unexpected downturns)
นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของบริษัทที่มีการกระจายตัวไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินใหญ่ และบริษัทยังต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันที่สูงในธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภคจากทั้งสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank financial institutions) และจากธนาคารพาณิชย์ สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวมยังคงอ่อนแอ สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อของ AEONTS ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับอยู่ในระดับที่ฟิทช์ได้คาดการณ์ไว้
AEONTS เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่ม Aeon ของประเทศญี่ปุ่น และบริษัทได้รับประโยชน์จากความชำนาญของกลุ่มในด้านการดำเนินธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจาก AEONTS ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ จึงไม่สามารถรับเงินฝากได้ อย่างไรก็ตามบริษัทมีโครงสร้างการระดมทุน (funding structure) ที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอื่น เช่น เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์การออกตราสารหนี้ และการระดมทุนผ่านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitisation) ในอดีต
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
อันดับเครดิตของ AEONTS อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของฐานะทางการเงินของบริษัท การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านระดับเงินทุนและโครงสร้างรายได้ทั้งในด้านการกระจายตัวและขนาด อาจจะส่งผลให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
ในทางกลับกัน การปรับตัวลดลงอย่างมากของระดับเงินทุนของบริษัท (capital buffers) หรือการเพิ่มระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัท (risk appetite) ที่อาจจะส่งผลต่อเนื่องให้คุณภาพสินเชื่อของบริษัทปรับตัวแย่ลงอย่างมาก อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องของผลการดำเนินงานของบริษัทอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้เช่นกัน