กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สปสช.หนุนนโยบายนายกรัฐมนตรี จับมือกรมแพทย์แผนไทยพัฒนาสิทธิประโยชน์บริการแพทย์แผนไทย ต่อเนื่อง ครอบคลุมนวด ประคบ อบสมุนไพร ฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอด และสมุนไพรไทย เผย ปี 58 มีหน่วยบริการร่วมจัดบริการกว่า 6 พันแห่ง ส่วนการใช้ยาสมุนไพรมีหน่วยบริการร่วมเบิกจ่ายกว่าหมื่นแห่ง ขณะที่ปี 60 ครม.อนุมัติงบจัดบริการเพิ่ม 11.61 บาท/ผู้มีสิทธิ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพบริการ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมุ่งสนับสนุนการแพทย์แผนไทยโดยนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ที่ผ่านการลงประชามติ ในมาตรา 55 ที่กำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สปสช.ในฐานะหน่วยงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เห็นความสำคัญการจัดบริการและการเข้าถึงการแพทย์แผนไทย นอกจากเป็นสนับสนุนภูมิปัญญาไทยเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนแล้ว ยังเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและดูแลต่อเนื่อง สปสช.จึงได้เริ่มจัดสรรงบบริการการแพทย์แผนไทยขึ้น ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อเป็นทางเลือกการรักษาให้กับผู้ป่วยรวมถึงการใช้ยาสมุนไพรไทย
ทั้งนี้ในส่วนการจัดสิทธิประโยชน์บริการด้านการแพทย์แผนไทย สปสช.ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามยุทธศาสตร์แพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เพื่อให้บริการแพทย์แผนไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีคุณภาพและปลอดภัย คู่ขนานไปกับแผนปัจจุบัน และมีการใช้ยาจากสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทย ซึ่งสิทธิประโยชน์บริการการแพทย์แผนไทยที่ครอบคลุม ได้แก่ บริการแพทย์แผนไทย นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษาและฟื้นฟูแก่ผู้ป่วย การฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอดตามแนวเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทย และการใช้ยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักแห่งชาติ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนบริการด้านการแพทย์แผนไทยนี้ ในปี 2560 รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณการจัดบริการด้านการแพทย์แผนไทยให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น จากปี 2559 อยู่ที่ 10.77 บาทต่อผู้มีสิทธิ์ หรือ 525,435,990 บาท เป็น 11.61 บาทต่อผู้มีสิทธิ์ หรือ 566,601,669 บาท ซึ่งจะทำให้การจัดบริการแพทย์แผนไทยของหน่วยบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุ และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ของประเทศ
ส่วนภาพรวมการจัดบริการด้านการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผ่านมา นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการจัดบริการนวด ประคบ อบสมุนไพร มีหน่วยบริการรัฐและเอกชนที่ร่วมจัดบริการเพิ่มขึ้นจาก 1,633 แห่งในปี 2552 เป็น 6,260 แห่งในปี 2558 ส่วนการบริการฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอดจาก 136 แห่งในปี 2553 เป็น 951 แห่งในปี 2558 นอกจากนี้ในส่วนของการสั่งใช้ยาสมุนไพร มีหน่วยบริการที่ร่วมสั่งใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 8,652 แห่งในปี 2555 เป็น 10,975 แห่งในปี 2558 ขณะที่รายงานข้อมูลไตรมาส 2 ปี 2559 มีหน่วยบริการที่ร่วมเบิกจ่ายยาสมุนไพรไทยแล้ว 11,038 แห่ง นับเป็นแนวโน้มที่ดีในการสนับสนุนบริการแพทย์แผนไทย
"การแพทย์แผนไทยรวมถึงสมุนไพรไทยถือเป็นภูมิปัญญาของชาติ เพื่อใช้ในการรักษาและฟื้นฟู โดยมีงานวิชาการเป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์ ดังนั้น สปสช.จึงสนับสนุนหน่วยบริการในการจัดบริการเพื่อควบคู่กับการรักษาโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้การแพทย์แผนไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืน เพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทยทั้งประเทศ" รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว