กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ฟร้อนท์เพจ
กระทรวงไอซีที เดินหน้าสานพลังประชารัฐ ลงนามกับ 11 หน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมมือจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue) หวังจัดระเบียบข้อมูลสินค้า ลดปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้า สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกระตุ้นผู้ประกอบการให้ปรับตัวรองรับการแข่งขันเสรีทางการค้าโลก
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน "การจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue) และการลงนามบันทึกข้อตกลงภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) ว่า เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า เก็บข้อมูล และสามารถแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ใช้งานกับเจ้าของสินค้าโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ระบบค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) ระบบ e-Payment ระบบการเก็บข้อมูลการขายและข้อมูลการจ่ายเงินที่เกิดขึ้นเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการ (Point of Sale : POS) เป็นต้น ให้สามารถนำข้อมูลในฐานข้อมูลกลางสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลไปใช้ทางธุรกิจได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดจับเก็บข้อมูลสินค้าให้เป็นระเบียบระบบอย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ สินค้าที่ไม่มีการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการของไทยขาดโอกาสและสูญเสียรายได้จากการส่งออกสินค้าในแต่ละปีคิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล
ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลสินค้าแห่งชาติขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดสินค้าต่างๆ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บสินค้า ด้วยกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Product Traceability) เช่น กระบวนการผลิตอาหาร สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลที่อาจมีการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย ตลอดจนระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) หากนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดทำข้อมูล เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการรองรับการค้าปกติ (Off Line) และการค้าขายออนไลน์ผ่านระบบอีคอมเมิร์ช รวมถึงระบบที่ผู้ซื้อเลือกและสั่งสินค้าบนโลกออนไลน์ แล้วรับสินค้าจากหน้าร้านที่กำหนด หรือผู้ซื้อเลือกสินค้าจากโชว์รูม ห้างสรรพสินค้า และสั่งซื้อผ่านระบบอีคอมเมิร์ชให้จัดส่งสินค้าที่บ้าน (Omni Channel) ได้อย่างมั่นใจ ในสินค้าไทย
"โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบการรับรองมาตรฐานสินค้า และร้องเรียนกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตสินค้าเองก็ได้ประโยชน์จากการเผยแพร่ข้อมูลสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการขายสินค้า การใช้งานสินค้าอย่างถูกวิธี การประชาสัมพันธ์มาตรฐานต่าง ๆ ที่สินค้าได้รับ ภาครัฐเองก็ได้ประโยชน์จากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจก่อนการซื้อสินค้า ลดปัญหาการร้องเรียนในภายหลัง ซึ่งหน่วยงานรัฐและเอกชนดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย กระทรวงไอซีที กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แนวทางดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" ดร.อุตตม กล่าวในที่สุด