กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
1. ข้อเสนอที่เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณา
1.1 ประเด็นสาระสำคัญที่อาจมีการหยิบยกขึ้นหารือในการเจรจาทบทวนข้อ 27.3(b) แห่งข้อตกลง TRIPS มีดังต่อไปนี้
1.1.1 ประเด็นเกี่ยวกับการตีความคำว่า sui generis ให้จำกัดเฉพาะเพียงอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants หรือ UPOV) ทั้งนี้เนื่องจากมีกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศพยายามเสนอให้มีการแก้ไข ข้อ 27.3(b) แห่งข้อตกลง TRIPS จากการอนุญาตให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืชโดยระบบกฎหมายลักษณะเฉพาะ เป็นการให้ความคุ้มครองตามหลักกฎหมาย ของ UPOV
1.1.2 ประเด็นเกี่ยวกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้รวมถึงพืชและสัตว์ โดยเห็นว่าควรตัด คำว่า"plants and animals" ในข้อ 27.3(b) แห่งข้อตกลง TRIPS ออก ทั้งนี้ เพื่อขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร ให้รวมถึงพืชและสัตว์
1.1.3 ประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงข้อตกลง TRIPS เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและใช้ประโยชน์ ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเห็นว่าควรรวมหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลาย ทางชีวภาพ(Convention on Biological Diversity หรือ CBD) ไว้ในข้อตกลง TRIPS
1.2 ประเด็นเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนเพื่อกำหนดท่าทีในการเจรจาที่เกี่ยวกับข้อ 27.3 (b) แห่งข้อตกลง TRIPS ข้างต้น โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการสร้างกลไกในการเจรจาเพื่อให้ภาคเอกชนมี ส่วนร่วมโดยไม่จำกัดเฉพาะตัวแทนของรัฐบาล
2. ท่าทีเบื้องต้นของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อเรื่องดังกล่าว
2.1 ประเด็นสำคัญในการแก้ไข
2.2.1 สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการตีความคำว่า sui generis ให้จำกัดเฉพาะเพียง UPOV นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจำกัดทางเลือกในการ ให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชและยังเป็นการสร้างภาระให้กับประเทศสมาชิกต่างๆ ประกอบกับประเทศไทย ได้ยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เหมาะสมกับสถานภาพของประเทศแล้ว
2.2.2 ในประเด็นเกี่ยวกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้รวมถึงพืชและสัตว์นั้น ปัจจุบัน ยังไม่มีการเสนอเรื่องนี้อย่างเป็นทางการมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไรก็ดี การคุ้มครองสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยืนยันมาตลอดว่าการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรสิ่งที่มีชีวิต ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหนึ่งตามมาตรา 9(5) ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และถ้าหากมีการเสนอเรื่องดังกล่าว มาให้พิจารณา กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว และเห็นว่าควรคงไว้ซึ่งบทบัญญัติในข้อ 27.3(b) แห่งข้อตกลง TRIPS
2.2.3 สำหรับประเด็นเกี่ยวกับปรับปรุงข้อตกลง TRIPS เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและใช้ประโยชน์ ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ในเรื่องนี้ ประเทศอินเดียเห็นว่าอนุสัญญา CBD และความตกลง TRIPS มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีชีวิตต่างกัน โดยเห็นว่า TRIPS สนับสนุนให้มีการคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ จากทรัพยากรเหล่านี้โดยให้การคุ้มครองผ่านสิทธิบัตร แต่ไม่ได้คำนึงถึงในแง่ของการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ CBD มุ่งเน้น ถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านี้แบบยั่งยืน และให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ อย่างยุติธรรมระหว่างเจ้าของทรัพยากรและผู้นำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น อินเดียจึงได้เสนอให้แก้ไขปรับปรุง ความตกลง TRIPS เพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในเรื่องนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นด้วยในหลักการซึ่งเป็นข้อเสนอของอินเดียในการปรับปรุงข้อตกลง TRIPS เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและใช้ประโยชน์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากจะเป็นมาตรการที่จะช่วยเสริมกลไกที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง
2.2 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการเจรจาในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดโอกาส ให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมหารือโดยไม่จำกัดเฉพาะตัวแทนของรัฐบาลนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เคยมีหนังสือหารือไปยังคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา แล้วได้รับข้อชี้แจง พอสรุปได้ดังนี้
2.2.1 การเข้าร่วมเจรจาในคณะผู้แทนไทยประจำองค์การการค้าโลก ประชุมเจรจาในคณะมนตรี TRIPS เนื่องจาก WTO เป็นเวทีการเจรจาระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิก ดังนั้น คณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมจะต้อง ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลประเทศสมาชิกเท่านั้น และจะต้องส่งหนังสือแต่งตั้งคณะผู้แทนให้สำนักเลขาธิการ WTO ก่อนการประชุม สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการประสานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะเป็น ผู้กำหนดว่าบุคคลในคณะผู้แทนไทยควรประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานใดบ้าง และในทางปฏิบัติเมื่อผู้แทน เดินทางถึงนครเจนีวาจะประชุมหารือกับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ หรือเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนถาวรไทยฯ ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อกำหนดท่าทีไทยก่อนเข้าประชุม และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ จะเป็นผู้กำหนด ว่าผู้แทนคนใดจะเป็นผู้กล่าวถ้อยแถลงหรือแสดงความเห็นในที่ประชุม
ในการประชุม Council for TRIPS ที่ผ่านมา ไม่เคยมีบุคคลภายนอกจากภาคเอกชนเข้าร่วม หากจะ ให้มีบุคคลภายนอกใดเข้าร่วม จะต้องมีหนังสือแต่งตั้งจากรัฐบาลตามที่กล่าวข้างต้น โดยกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ กนศ. จะเป็นผู้ประสานงาน
2.2.2 การเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลสามารถขอเข้า เป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุมที่เป็นทางการได้ แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมล่วงหน้า และไม ่สามารถแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้ เว้นแต่ที่ประชุมเห็นชอบให้แสดงความคิดเห็นได้เป็นคราวๆ สำหรับ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการซึ่งมักจะเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างการประชุมอย่างเป็นทางการเพื่อพิจารณาเรื่อง ที่ละเอียดอ่อน ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถร่วมได้ องค์กรเอกชนหรือบุคคลไม่สามารถขอเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ ไม่ว่าในการประชุมใด
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมี ความรู้ความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา อาจขอข้อมูลความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณา กำหนดท่าทีตามกระบวนการและผ่านความเห็นชอบของ กนศ. ก่อนส่งให้คณะผู้แทนถาวรไทยฯ ต่อไป
ขณะนี้ WTO กำลังพิจารณาบทบาทการมีส่วนร่วมใน WTO ของ NGO ’s ซึ่งมีทั้งประเทศที่สนับสนุนและคัดค้าน
3. สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไปแล้ว
3.1 เกี่ยวกับเรื่องความพยายามจะแก้ไขข้อ 27.3(b) แห่งข้อตกลง TRIPS เพื่อกำหนดขอบเขตการตีความคำว่า sui generis ให้จำกัดเฉพาะเพียง UPOV นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้แสดงท่าทีไปยังคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การการค้าโลกแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
3.2 ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอของอินเดียในการปรับปรุงข้อตกลง TRIPS เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและ ใช้ประโยชน์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้แสดงท่าทีในเบื้องต้นว่าไม่ขัดข้องกับหลักการตามที่เสนอโดยอินเดีย แต่เห็นว่าควรมีการหารือ ในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการเพื่อให้บรรลวัตถุประสงค์ดังกล่าวต่อไป
3.3 สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในเวทีการเจรจาหารือของ องค์การการค้าโลกนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ แก่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นปัญหาและได้มีการหยิบยกขึ้นหารือในเวทีองค์การการค้าโลก ไม่ว่าจะในรูปแบบของ การจัดสัมมนา การทำประชาพิจารณ์ หรือการประชุมหารือ ทั้งนี้เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการจัดเตรียมท่าทีของประเทศไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเจรจาหารือ กำลังพิจารณาจัดเตรียมรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนในเรื่องของการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ในเวทีการเจรจาหารือขององค์การการค้าโลก เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป--จบ--
-อน-