กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ มีนโยบายปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยอาหารทั้งหมด และได้จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้า-ส่งออกของเกาหลี พร้อมประกาศใช้กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารใหม่ผู้ประกอบการต้องเร่งศึกษาข้อมูลเพื่อเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสทางการค้า เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางอาหารสูงขึ้นทั้งยังปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเดิมอย่างต่อเนื่อง มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด และกระบวนการนำเข้า-ส่งออกจะมีความซับซ้อนมากขึ้นมีความยากมากขึ้น ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านภาษาเกาหลีในการเผยแพร่กฎระเบียบต่างๆ อีกด้วย ประเด็นดังกล่าว นับเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปยังเกาหลีใต้ ทั้งการขยายตลาดส่งออกหรือเปิดตลาดใหม่ เนื่องจากผู้ส่งออกรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดและรายละเอียดการปฏิบัติที่ซับซ้อนของเกาหลี และด้วยข้อจำกัดด้านภาษาของเกาหลี เป็นการยากที่หน่วยงานภาครัฐของไทยจะสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติตามข้อกำหนดของเกาหลีที่ถูกต้องได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและขยายโอกาสทางการค้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปเกาหลีใต้ในอนาคต มกอช. จึงเร่งดำเนินการเผยแพร่กฎระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของสาธารณรัฐเกาหลี ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกของไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 300 ราย ได้รับทราบและเข้าใจกฎระเบียบ กฎหมาย นโยบายการนำเข้า และขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของเกาหลี ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสารกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการนำเข้าของเกาหลีโดยตรง ให้คำแนะนำกระบวนการตรวจสอบและกักกันสินค้านำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจรายละเอียดกฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ได้มากขึ้น และช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้ พร้อมขยายตลาดการค้าและเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย
"ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้ว ถ้าผู้ประกอบการรู้ข้อมูลไวก็จะปรับตัวได้ไว ถือเป็นความได้เปรียบทางการค้า มกอช. จึงต้องเร่งดำเนินการในการเผยแพร่กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง อนาคตคาดว่า ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยน่าที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่เกาหลีใต้กำหนด ซึ่งจะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังเกาหลีใต้และนำรายได้เข้าประเทศสูงขึ้นจากส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรที่ไทยส่งไปเกาหลีเพียง 3 – 4% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรวมของเกาหลีที่สูงถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม มกอช.จะดำเนินการให้ข้อมูลกฎระเบียบใหม่ๆ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญกับผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดเดิม เช่น จีน สหรัฐฯ รวมถึงตลาดใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย" นางสาวดุจเดือนกล่าว
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในช่วงปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังเกาหลีใต้ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง และมีสินค้าเกษตรและอาหารไทยหลายรายการที่มีโอกาสและขยายช่องทางตลาดในเกาหลีใต้ได้ เช่น มะม่วง และสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ รวมถึงไก่สดที่ไทยจะกลับมาส่งออกไปยังเกาหลีใต้ได้อีกครั้งในเร็วๆนี้เฉลี่ยปีละ 3 – 4 หมื่นตัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สินค้าเกษตรไทยส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในปี 2560 ได้ถึง 35,000 ล้านบาท.