ม.ธรรมศาสตร์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 28 ก.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Thursday July 27, 2000 13:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ม.ธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่าน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2542 วันที่ 28 กรกฎาคม 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2542 วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2543
ในการนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่าน ดังนี้
1. อาจารย์ชุมพล จันทราทิพย์ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หลังจากสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต (มธ.) แล้วได้เข้ารับราชการ เป็นผู้พิพากษา ในศาลต่างๆ จนกระทั่งท้ายที่สุดดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา อีกทั้งเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ (มธ.) เป็นเวลานานถึง 20 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาศูนย์นิติศาสตร์ กรรมการบริหารศูนย์นิติศาสตร์ และประธานฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สำนักงานช่วยเหลือประชาชน ทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเป็นงานช่วยเหลือสังคม อาจารย์ชุมพลมีผลงาน วิชาการดีเด่นหลายเล่ม เช่น คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ ค้ำประกัน จำนอง และจำนำ ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนและอธิบายด้วยถ้อยคำง่ายๆ และหนังสือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีความทันสมัยและยังเป็นตำราเกี่ยวกับ พระธรรมนูญศาลเล่มเดียวในปัจจุบัน อาจารย์ชุมพลได้ปฏิบัติตนตามคติธรรมของ ผู้พิพากษาที่ดีตลอดชีวิตการทำงาน เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในวิชาชีพ กฎหมาย และเป็นแบบอย่างที่ดีของนักศึกษาวิชากฎหมายควรดำเนินรอยตาม
2. ศาสตราจารย์ ธวัช ภูษิตโภยไคย บัญชีดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาพาณิชยศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี (มธ.) ปริญญาตรีทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช Executive Program in Business Administration, University of Columbia New York, USA
ปัจจุบันเป็นกรรมการจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินธนาคาร แห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทสำนักงาน เอส จี วี ณ ถลาง จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานสอบบัญชีที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับทั้งในและ ต่างประเทศ ในอดีตขณะที่ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชี รับอนุญาตแห่งประเทศไทย ได้อุทิศตนสร้างผลงานการตั้งสาขาของสมาคมนักบัญชี อีกหลายๆ แห่งทั่วประเทศ ทำให้มีศูนย์รวมที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านบัญชีไปสู่ภูมิภาค ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นศาสตราจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ (มธ.) ที่อุทิศตนและเวลาเป็นอย่างมากในการสอนทางบัญชีแก่นักศึกษา ทั้งยังช่วยแนะนำ อาจารย์ของคณะในด้านการสอบบัญชี ช่วยคณะปรับปรุงหลักสูตรของภาควิชาการบัญชี ศาสตราจารย์ธวัช เคยได้รับโล่เกียรติคุณในฐานะนักศึกษาเก่า ที่ประสบความสำเร็จของ คณะพาณิชยศาสตร์ฯ โล่เกียรติยศในฐานะผู้อุปการคุณ ผู้ทำคุณประโยชน์ และ สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ
3. ศาสตราจารย์ ดร.ทัศเดช อรุณสมิทธิ บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษา Bachelor of Arts (Social Science) จาก Monash University ประเทศออสเตรเลีย Doctor of Philosophy (Management Studies) จาก University of Oxford ประเทศอังกฤษ Degree, Private Public Sector Programme National Defence College จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการจัดเตรียมคณะนักศึกษา และทำหน้าที่อาจารย์ ที่ปรึกษาเพื่อไปแข่งขันแผนธุรกิจ ระดับนานาชาติ ระหว่างสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ ชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก (MOOT CORP Business Plan Competition) ประธานกรรมการบริหาร โครงการปริญญาเอกทางการตลาด และประธานกรรมการ บริหารโครงการปริญญาโท ทางการตลาดภาคภาษาอังกฤษ คณะพาณิชยศาสตร์ฯ (มธ.) ศาสตราจารย์ ดร.ทัศเดช เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ในศาสตร์ทางการตลาดอย่างลึกซึ้ง และมีผลงานในวิชาการทางการตลาดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยได้แต่งตำรา ด้านการตลาด ที่มีคุณค่ายิ่งต่อการเรียนการสอน ในหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก และยังได้ผลิตผลงานวิจัย และบทความทางการตลาดที่ได้รับการยอมรับ ให้เผยแพร่ ในวารสารทางการตลาดระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการริเริ่ม ก่อตั้งหลักสูตรทางการตลาด ในระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. นายประยูร เถลิงศรี บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ B.Sc. (Economics) จาก Queen ’s University of Belfast สหราชอาณาจักร เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทะเบียนการค้า อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัย และอธิบดี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ได้พัฒนาระบบการบริหาร และอัตรากำลังของแต่ละหน่วยงาน วางระบบและยกร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตร การประกันภัย
นายประยูร เป็นนักบริหารที่มีคุณธรรม สร้างสรรค์ผลงานทั้งทางด้านวิชาการ และงานด้านบริหารระดับประเทศ ที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศชาติ เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2522/ 2523 ในด้านการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นายประยูร รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อประเทศไทย เข้าเป็นภาคีความตกลงทั่วไป ว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคี องค์การกาแฟระหว่างประเทศ (ICO) ด้านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายประยูรได้สนับสนุนคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ในโครงการจัดอับดับธุรกิจที่ใหญ่ (มียอดขาย) มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ ต่อการเรียนการสอน ของภาควิชาการเงินแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อวงการธุรกิจโดยส่วนรวมอีกด้วย
5. นายเชาวน์ สายเชื้อ รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญา วปอ. อาเซียน รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 25 จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รับราชการกระทรวงการต่างประเทศจนได้เลื่อนเป็นข้าราชการชั้นพิเศษ และดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ เมื่อเกษียณอายุราชการยังทำหน้าที่ เป็นกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนแรกของประเทศไทย ซึ่งได้วางรากฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรหลัก องค์กรหนึ่งของชาติ และให้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย โดยได้กำหนดหลักการ และกรอบแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ของศาลรัฐธรรมนูญ การจัดทำวิธีพิจารณา ของศาลฯ การจัดตั้งสำนักงานศาลฯ การพิจารณาวินิจฉัยคดีต่างๆ นายเชาวน์ เป็นบุคคล ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการ การใช้ภาวะผู้นำ ความมีจุดยืนที่ยึดมั่น ในหลักการความเปิดเผย โดยยึดหลักความโปร่งใส และความสามารถในการบริหารงาน ภายใต้ภาวะข้อจำกัด เป็น "ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์"
6. หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มงานกำกับภาพยนตร์ โทรทัศน์เป็นครั้งแรก แล้วจึงต่อด้วยงานกำกับการแสดงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน ทรงได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ต่างๆ รวม 19 รางวัล โดยภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของท่านยังได้รับรางวัลประเภทอื่นๆ อีก เช่น รางวัลผู้แสดงนำฝ่ายชาย/ฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม รางวัลผู้แสดงประกอบฝ่ายชาย/ ฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม รางวัลการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม เป็นต้น อันเป็นผลจากการกำกับ การแสดงของท่าน ในระดับต่างประเทศ เคยได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสิน ในการประกวดภาพยนตร์เบอร์ลินฟิล์มเฟสติวัล ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ภาพยนตร์เรื่อง "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" ที่ท่านกำกับฯ ได้รับการคัดเลือก ให้เป็นภาพยนตร์ดีเด่น 1 ใน 20 เรื่องทั่วโลกในงานประกวดภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ภาพยนตร์เรื่อง "กาม" ได้รับรางวัลบทประพันธ์ยอดเยี่ยม จากงานมหกรรมภาพยนตร์อาเซียน หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงใช้ภาพยนตร์ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการให้ข่าวสารต่างๆ ของสังคมรอบตัวนอกเหนือไปจากความบันเทิง ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้เทคนิคการสร้าง ภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์และยอดเยี่ยม ผลงานการสร้างภาพยนตร์ของท่าน จึงมีลักษณะในแนวสร้างสรรค์สังคม และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป นอกจากในฐานะ ผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว ยังทรงอุทิศเวลาส่วนพระองค์ฝึกสอน และให้คำแนะนำแก่ นักศึกษาที่ไปฝึกงานในกองถ่าย ทั้งทางด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ ตลอดจนพยายาม ให้คำปรึกษาแก่ผู้กำกับภาพยนตร์ รุ่นใหม่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อส่งเสริมผลักดัน คนรุ่นใหม่ ให้ก้าวเข้าไปในวงการด้วยความเพียบพร้อม ให้รู้จริงทั้งทางด้านภาพยนตร์ และมีจุดยืนเพื่อส่วนรวมด้วย
7. นายมานิจ สุขสมจิตร วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับประกาศนียบัตร การฝึกอบรมวิชาการหนังสือพิมพ์ของมูลนิธิทอมสัน ประเทศอังกฤษ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์เมืองคาร์ดีฟ แคว้นเวลล์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยแม้จะไม่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยตรง แต่ได้นำความรู้ทางกฎหมาย และความรู้ทางวิชาการหนังสือพิมพ์มาใช้ ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทางสังคม และผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีต่างๆ ขณะเดียวกันได้อบรมปลูกฝัง นักหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง ให้ยึดหลักนิติธรรมแห่งกฎหมาย และหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นที่ประจักษ์ชัดว่านายมานิจ เป็นผู้ที่ทุ่มเทสติปัญญา และความรู้ในการรณรงค์ให้สื่อสารมวลชน มีเสรีภาพมาโดยตลอด นายมานิจ เป็นที่ยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมวิชาชีพให้เป็นผู้นำในตำแหน่งต่างๆ เช่น นายกสมาคม นักข่าวแห่งประเทศไทย ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน ซึ่งเป็นคนไทย คนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรควบคุม กันเองของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ นายมานิจ ได้อุทิศตนและเวลาให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างดียิ่ง เป็นทั้งอาจารย์พิเศษ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาและประธานโครงการต่างๆ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจโดยไม่เคยปฏิเสธว่าจะมีงานมากน้อยเพียงใด
8. ศาสตราจารย์ ดร.เสริน ปุณณหิตานนท์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยา สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย M.A. in Government จาก University of New Hampshire วุฒิการศึกษา Ph.D. in Sociology จาก Indiana University ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาทางด้านงานวิจัย ของสำนักงาน ป้องกันและปราบปราบยาเสพติดฯ มีผลงานด้านงานวิจัยหลายเรื่อง โดยเรื่อง "การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ในประเทศไทย และปัญหาที่เกี่ยวเนื่อง" ได้รับรางวัลดีเยี่ยมจากสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ และเคยทำการสอน ระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ตลอดจนบรรยายพิเศษในสถาบันการศึกษาต่างๆ มากมาย ศาสตราจารย์ ดร.เสริน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสังคมวิทยา แม้ในระยะแรก รับราชการเริ่มต้นในคณะรัฐศาสตร์ แต่ด้วยความรู้และความประสงค์ ที่จะทำ คุณประโยชน์ให้กับสาขาสังคมวิทยา ให้มีความเจริญเติบโตในระดับแนวหน้า ของวงวิชาการไทย จึงได้โอนมารับราชการ ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่คณะ และมหาวิทยาลัย อย่างอเนกอนันต์ นอกจากนี้ ยังอุทิศตนรับผิดชอบงานด้านอื่นๆ นอกเหนือจากงานวิชาการ อย่างเต็มกำลัง จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจากชุมชน ทั้งภายในและภายนอก มหาวิทยาลัย
9. ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์ เฉลิม วราวิทย์ แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สำเร็จเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ จาก American Academy of Pediatrics แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเด็ก จาก American Board of Pediatrics ได้รับคุณวุฒิ Master of Education จาก University of Illinois และหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญสาขากุมารเวชศาสตร์จากแพทยสภา เริ่มรับราชการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด เคยได้รับรางวัลแพทย์จุฬาฯ ดีเด่น สาขาวิชาแพทยศาสตรศึกษา และโล่เกียรติคุณ องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านแพทยศาสตรศึกษา หลังเกษียณอายุราชการได้มาช่วยงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ มธ. และได้ช่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น เป็นกรรมการด้านวิชาการ ตลอดถึงการดูแลความเรียบร้อย ของการก่อสร้าง และสถานที่ของคณะแพทยศาสตร์ มธ. ทั้งยังได้ปฏิบัติหน้าที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ฝ่ายทั่วไป ดูแลงานนโยบายและแผน งานวิจัย ซึ่งมีบทบาทในการช่วยกำหนดทิศทาง คณะแพทยศาสตร์เป็นอย่างมาก งานสำคัญคือ การช่วยให้คณะมีหลักสูตรการศึกษา อบรมระดับประกาศนียบัตร และบัณฑิตศึกษา ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มุ่งหวังให้ บัณฑิตมีคุณสมบัติ ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับว่าเป็นอาจารย์ ในมหาวิทยาลัย ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งด้านวิชาการและด้านบริหาร
10. นายซึซึมุ โยดะ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีพลังงาน เศรษฐศาสตรบัณฑิตจาก Yokohama National University ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลาง ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลัง แห่งประเทศญี่ปุ่น กรรมการที่ปรึกษาระบบการเงิน กระทรวงการคลัง กรรมการให้คำปรึกษ าด้านโครงการระยะยาว ของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู ประเทศญี่ปุ่น นายโยดะ มีผลงานทางด้านเทคโนโลยีพลังงานและเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับโลก ระดับอาเซียน และในประเทศไทย ซึ่งนายโยดะ ได้ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการศึกษาขั้นสูง ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่ประเทศไทยจำนวนมาก เช่น อนุมัติให้วิศวกรวิจัยอาวุโสเข้ามาสอนวิชาการ ณ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติแห่งเอเชีย และยังตอบรับให้นักวิชาการไทย และนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าในโครงการต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ นายโยดะ ยังเดินทางมาลงนามในสัญญา การส่งผู้เชี่ยวชาญและความร่วมมือ ทางการวิจัยกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระหว่างการมาเยือน นายโยดะ ได้บรรยายที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในหัวข้อ "The Challenge to Overcome the Trilemma — Nuclear Power in the 21th Century" ด้วย ซึ่งได้ให้คำอธิบายอย่างละเอียดและชัดเจนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ นายโยดะ ยังได้มอบลิขสิทธิ์การแปลหนังสือ TRILEMMA เป็นภาษาไทยให้แก่สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอีกด้วย--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ