กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--เจซีแอนด์โคพับลิครีเลชั่นส์
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตรวจเข้มตามมาตรการกำกับดูแลเหมืองแร่ช่วงหน้าฝน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการยุบตัวและเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ โดยมีมาตรการดังนี้ 1.ทำเหมืองตามแผนผังโครงการการทำเหมืองแร่ฯและการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด 2.ทำเหมืองเป็นขั้นบันได 3.การทำเหมืองโดยไม่ให้หันหน้าไปในทิศทางที่จะมีแนวชั้นหินวางตัวเอียงเทลงสู่หน้างานด้านล่าง 4. ตรวจสอบพื้นที่หน้างานก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง 5. ปิดกั้นพื้นที่เพื่อปรับปรุงแก้ไข 6.จัดให้มีบ่อดักตะกอน อย่างไรก็ตาม กพร. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ที่มีความเสี่ยงสูงให้ปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมืองโดยเฉพาะเหมืองที่มีความเสี่ยงต่อการพังถล่มในช่วงหน้าฝนและควรเฝ้าระวังจำนวน 57 เหมืองจากจำนวนเหมืองแร่ 595 เหมืองทั่วประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นเหมืองหินแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรม ล่าสุด กพร. ได้ดำเนินการสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรการและการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขแนบท้ายการอนุญาตแล้วจำนวน 31 ราย และยังคงเข้มงวดในการตรวจสอบและเฝ้าระวังต่อไป
ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2202-3555หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกหนัก อุตสาหกรรมเหมืองแร่จึงมีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอุบัติเหตุจากเหมืองถล่ม โดยบริเวณที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ ได้แก่ บริเวณที่มีหน้าเหมืองสูงชัน บริเวณที่มีรอยแตก รอยเลื่อน หรือมีดินแทรก ฯลฯ กพร. จึงได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดตามมาตรการกำกับดูแลและการเฝ้าระวังเหมืองถล่มทั่วประเทศในช่วงฤดูฝน ดังนี้
1. ทำเหมืองตามแผนผังโครงการการทำเหมือง ตามมาตรการและการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขแนบท้ายการอนุญาตอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการออกแบบการทำเหมืองในแผนผังโครงการทำเหมืองนั้นได้พิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการในการทำเหมืองเพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมทั้งป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการพังถล่มของหน้าเหมืองได้ด้วย
2. ทำเหมืองเป็นขั้นบันได ช่วยลดความเสี่ยงจากการพังถล่มของหน้าเหมือง หรือช่วยลดความรุนแรงจากการพังถล่มได้เป็นอย่างมาก
3. ทำเหมืองโดยกำหนดพื้นที่หน้าเหมืองไม่ให้หันหน้าไปในทิศทางที่จะมีแนวชั้นหินวางตัวเอียงเทลงสู่หน้างานด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลื่อนไถลของชั้นหินลงสู่พื้นที่ด้านล่าง หรือให้มีการเจาะระเบิดในลักษณะที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับรอยเลื่อนหรือรอยแตก ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายต่อผู้ที่ปฏิบัติงาน
4. ตรวจสอบพื้นที่หน้างานก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ต้องตรวจสอบว่าบริเวณหน้างานมีร่องรอยของแนวแตกหรือไม่ หากมีแนวรอยแตกเกิดขึ้นต้องกันพื้นที่ห้ามเข้าปฏิบัติงานโดยเด็ดขาด จนกว่าจะมีการดำเนินการแก้ไขเพื่อความปลอดภัย
5. ปิดกั้นพื้นที่เพื่อปรับปรุงแก้ไข เมื่อตรวจสอบพบว่า หน้างานใดมีลักษณะสูงชันมาก หรือมีแนวเลื่อน แนวรอยแตก หรือมีดินแทรก อันจะก่อให้เกิดการพังถล่มของหน้าเหมืองและเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน
6. จัดให้มีบ่อดักตะกอน ในพื้นที่ประทานบัตรควรมีบ่อดักตะกอนเพื่อรองรับน้ำจากบริเวณกองดินและคูระบายน้ำรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งจะช่วยชะลอการไหลของน้ำออกนอกพื้นที่ได้
ทั้งนี้ กพร. ได้มอบหมายให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ทุกเขต ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะพื้นที่เหมืองแร่ที่มีความเสี่ยงสูงให้ปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมือง มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามเงื่อนไขประทานบัตร รวมทั้งวิธีการป้องกันอันตรายตามหลักวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด โดยจากการตรวจสอบพบพื้นที่หน้างานที่มีความเสี่ยง ได้แก่ หน้าเหมืองที่อาจจะมีหินร่วงหล่น หน้าเหมืองที่อาจจะมีการเลื่อนของชั้นหิน หน้าเหมืองสูงชัน และพื้นที่ที่มีเส้นทางขนส่งชำรุด ซึ่งจากการตรวจสอบพบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการพังถล่มในช่วงหน้าฝนและควรเฝ้าระวังมีประมาณ 57 เหมืองจากจำนวนเหมืองแร่ 595 เหมืองทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นเหมืองหินแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมโดยกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ อาทิ ชลบุรี สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช พะเยา ขอนแก่น และสุพรรณบุรี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ กพร. ได้ดำเนินการสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรการและการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขแนบท้ายการอนุญาตแล้วจำนวน 31 ราย ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการควบคุมให้เกิดความปลอดภัยในการประกอบการเหมืองแร่ตามกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขต่างๆ นายชาติ กล่าว
ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2202-3555หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th