กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--พริสไพออริตี้
เอ๊าะ - กีรติ เทพธัญญ์ แท็กทีม ท็อป - พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ ตี๋ - วิวิศน์ บวรกีรติขจร (ตี๋ AF) รวมพลังบุก จ.สุโขทัย เพื่อร่วมถ่ายทอดแรงบันดาลใจ และแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ เรื่องการบริหารจัดการเงิน รวมถึงการออมและหารายได้เสริม เพื่อกระตุ้นความคิดเด็กๆ ให้ได้เห็นมุมมองและวิธีคิดที่หลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ใน งานเสวนาและเวิร์กช็อป "อย่าให้ใครว่าไทย" ตอน "คิดดี มี...ตังค์" ที่จัดโดย มูลนิธิมั่นพัฒนา ในนามเครือข่ายอนาคตไทย ผู้ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" ร่วมกับ เครือข่ายอนาคตไทย จ.สุโขทัย ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นคนไทย ให้ตระหนักถึงปัญหา 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ขี้โกง มักง่าย ไร้สติ ฟุ้งเฟ้อ รวมถึงเน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านเสวนาเชิงปฏิบัติการ โดยมีน้องๆ นักเรียน นักศึกษาเข้ากว่า 1,000 ชีวิต ณ หอประชุมวรรณกลาง ณ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย ก่อนจะส่งท้ายด้วยเสียงเพลงเพราะๆ ของหนุ่มตี๋ AF ในเพลงของเพื่อนร่วมบ้าน AF อย่าง "โสดกะปริบกะปรอย" ก่อนจะต่อด้วย "แพ้ทาง" และ "อยู่ต่อเลยได้ไหม" ของรุ่นพี่อย่างลาบานูนและสิงโต นำโชค สร้างความสนุกและความประทับใจสั่งลาทุกคนที่มาร่วมงานดังกล่าว
เอ๊าะ - กีรติ เทพธัญญ์ พี่ใหญ่ในเวทีนี้ เป็นตัวแทนกล่าวความรู้สึก ที่ได้มาร่วมสร้างพลังเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเด็กๆ เพื่อสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืน วันนี้ว่า "ดีใจมาก อยากมาเล่าประสบการณ์ถ่ายทอดเรื่องราวของเราให้เด็กรุ่นใหม่ฟัง จะได้รู้ว่าชีวิตมันไม่ง่าย ผมเองเริ่มจากการเป็นนายแบบมาก่อน สมัยเรียนนิเทศศาสตร์ เจอรุ่นพี่ชักชวนมาเข้าวงการบันเทิง ซึ่งตอนนั้นคิดว่าหลอกลวงกันหรือเปล่า แต่เราก็ลองเสี่ยงดู เพราะอยากหาเงินเข้าคณะที่วิทยาลัยครู เลยลองปรึกษาแม่ดู แม่ก็บอกว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีขาย ไม่มีที่ไหนสอน เพราะฉะนั้น ไปเลย ก็เลยลองไปประกวด ตอนนั้นที่เข้าไปผมยังบ้านนอกอยู่เลย ใส่รองเท้า นันยาง เสื้อห่านคู่ เพื่อนๆ คนอื่นใส่แบรนด์ดีๆ กันทั้งนั้น แต่เราก็ไม่สนใจ พอมีโอกาสประกวดก็โชคดีได้รางวัลที่ 1 มาครับ ตรงนี้อยากจะบอกน้องๆ ทุกคนว่า โอกาสกับอากาศค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเรามองเห็นโอกาสแล้ว ถ้าทำได้จงทำ ถ้าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ให้ถือว่าเป็นอากาศ ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำแล้วมันดี นั่นแหละคือจุดเปลี่ยนชีวิตคุณ ผมเองที่บ้านฐานะค่อนข้างยากจน ขนาดที่ว่า บางมื้อผมและน้องสาวต้องกินข้าวคลุกกับน้ำปลาตอนเด็กๆ เพื่อรอแม่ซื้อไข่กลับมาให้ หรืออย่างดีหน่อยก็ข้าวกับปลากระป๋อง ลำบากมาก ซึ่งการที่จะได้ไปกินข้าวนอกบ้านเป็นเรื่องใหญ่มาก แม่ต้องเก็บเงินนานมาก บางครั้งผมก็คิดอิจฉาลูกคนอื่นที่ได้กินอะไรที่อยากกิน ได้กินไอศกรีมหน้าโรงเรียน ซึ่งผมก็อยากกินบ้าง เลยอดข้าวเก็บเงินค่าขนม เพื่อเอาเงินไปซื้อไอศกรีมเหมือนเขา จากนั้นเราก็เรียนรู้ว่า ถ้าอยากได้อะไรต้องอดทน อดออม และต้องพยายามหาทางให้มีเงินเพิ่มขึ้น แล้วผมก็เริ่มหาเงินจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย โดยยึดว่าอะไรที่ยากคนอื่นไม่ทำ...เอ๊าะทำ อย่างงานเขียนคัตเอาท์หรือป้ายต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย คนในมหาวิทยาลัยไม่ค่อยทำ เพราะจะต้องรอให้เพื่อนกลับหมดก่อน แล้วค่อยเริ่มทำ เนื่องจากมีกลิ่นทินเนอร์ เหม็น แต่ผมทำ ให้เขาเขียนโครงไว้ให้ผม แล้วผมลงสีให้ ผิดถูกว่ากันตอนเช้าแต่เอาเงินมาก่อน แต่จำไว้เลยนะ เงินก้อนแรกในชีวิต ไม่ต้องให้ตนเอง ให้แม่ให้หมด ปีนี้ผมอายุ 42 ปีแล้ว แต่ผมยังได้เงินเป็นรายวันอยู่เลย เพระได้เงินมาเท่าไรก็ส่งให้แม่หมดครับ จากนั้นๆ ก็ค่อยๆ ขอ อย่างแรกเราจะได้มีเรื่องคุยกับพ่อแม่ ผู้ใหญ่เองก็จะมีอะไรทำ และต่อให้เราแก่แค่ไหน เมื่อกลับบ้านเราก็ยังเป็นเด็กในสายตาเขา นี่คือวิธีคิด ซึ่งผมภูมิใจในตัวเองมาก ให้ไปเรื่อยๆ ให้ไปให้หมด ให้บุพการีของเรา ให้ท่านอย่างสาสมที่สุด ให้จนพ่อแม่บอกว่าพอเหอะ ให้ไปเลย เหลือเท่าไรค่อยมาทางเอาว่าจะทำอย่างไร เพราะที่สุดท่านก็เก็บไว้เพื่อเรา ในขณะเดียวกัน เมื่อเรามีเงินก็ต้องรู้จักบริหาร มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จ่ายในเรื่องมีประโยชน์และไร้สาระ จดหมด สำคัญมาก เราจำเป็นต้องรู้ว่าในหนึ่งสัปดาห์เราใช้อะไร และรวมเป็นหนึ่งเดือนเราใช้ไปเท่าไร จะได้รู้ และเมื่อมีเงินแล้วอย่าเพลินไปกับความร่ำรวยที่เกิดขึ้น เพราะคุณกำลังจะตายไปพร้อมความจนที่เริ่มต้นขึ้น ต้องวางแผนด้วย"
ท้ายสุด หนุ่มเอ๊าะยังฝากข้อคิดดีๆ เรื่องการใช้เงินให้น้องๆ ด้วย "เวลาเราใช้เงินต้องคิดก่อนว่าจำเป็นไหม ซื้อต้องมีเป้าหมาย อย่างผมเคยซื้อกระเป๋าเดินทางแพงมากใบละ 40,000 กว่าบาท ใช้ได้ถึง 100 กว่าครั้ง ถามว่าผมจะสามารถใช้กระเป๋าใบนั้นได้ถึง 100 ครั้งไหม มีสิทธิ์ เพราะการันตีอยู่ที่ 5 ปี มีปัญหาหรือเสีย ซ่อมฟรี ท้ายสุดผมคิดแล้วว่าน่าจะใช้ได้ถึง 100 ครั้ง คุ้มแน่ๆ ที่นี่มาดูเงินต้นว่าจะทำยังไง ก็วางแผนไว้เลยว่าจะเก็บยังไงให้มาถึงตรงนี้ได้ ทำเลย พอเราเอาจำนวนครั้งหารที่ใช้ได้ แล้วคุณจะมีความสุขกับการใช้ ดังนั้น ก่อนใช้เงินคิดให้มาก คิดให้เยอะ ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งนั้นจำเป็นไหม แค่ไหน เราต้องมีเหตุมีผลในการใช้จ่ายเงิน ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้จักเก็บออม หารายได้เพิ่มเติม และวางแผนสำหรับการเงินล่วงหน้าควงคู่ไปด้วย ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันติดตัวไปจนจบการศึกษา อันจะทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไปครับ"