กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SOA+D) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดงาน "LIFE IDID 2016 Industrial Design Degree Show" ซึ่งเป็นงานนิทรรศการแสดงผลงาน ปริญญานิพนธ์หรือศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี สาขาออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) ภายใต้แนวคิดและวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานการออกแบบของนักศึกษาออกสู่สาธารณะ โดยมีผลงานหลายชิ้นที่บอกเล่าเรื่องราวความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและวิถีชีวิตก่อนจะมาเป็นผลงานการออกแบบ อาทิ ผลงาน "มัด มัด" ผลงานดังกล่าว เป็นของ นางสาวนัสริน ช่วยรอด หรือ น้องนัส โดย นัสริน กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเป็นชุดอุปกรณ์ฝึกทำผ้ามัดหมี่ของจังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นตัวเชื่อมให้เด็กในชุมชนเห็นคุณค่าและเข้าถึงผ้ามัดหมี่ได้ง่ายมากขึ้น
"การทำผ้ามัดย้อมทั่วไปคือการมัดผ้าบางจุดแล้วนำไปย้อมทั้งผืน แต่สำหรับผ้ามัดหมี่คือการนำเส้นฝ้ายมามัดรวมกันในบางจุดเพื่อไม่ให้จุดที่มัดติดสีที่ย้อม จากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายที่ย้อมแล้วไปทอเป็นผืนที่มีลวดลายต่างๆ อีกที ด้วยวิธีการทำที่ค่อนข้างยากนั้นจึงทำให้ผ้ามัดหมี่มีราคาสูง และเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อยลง ผ้ามัดหมี่มีในหลายพื้นที่มีเอกลักษณ์และวิธีการทำที่แตกต่างกันไป แต่ความพิเศษของผ้ามัดหมี่สกลนคร คือเป็นผ้าลายมัดหมี่ย้อมครามด้วยวิธีการย้อมเย็นจากพืชธรรมชาติ ผ้ามัดหมี่แต่ละผืนมีเรื่องราวที่เกิดจากลวดลายแฝงอยู่แต่ปัจจุบันเริ่มเลือนหายไป ลวดลายที่ใช้ในการทอผ้าไม่ใช่แค่ให้ความสวยงามแต่มีความหมายที่จะเลือกใช้ในเทศกาลและงานสำคัญทางวัฒนธรรมต่างๆ"
นัสริน กล่าวต่ออีกว่า มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก โดยต้องการให้เด็กรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของผ้าครามมัดหมี่และรับรู้ว่าลวดลายที่ทอบนผืนผ้านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ด้วยการเลือกลวดลายพื้นฐานในการทอผ้ามาใช้กับชุดอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ลายผีเสื้อ ลายช้าง ลายดอกพุดซ้อน และลายหมาก ให้เด็กได้สนุกกับการเลือกใช้ลวดลาย เพื่อสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวตามจินตนาการ ซึ่งผลลัพธ์จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกันระหว่างคนเก่าแก่ที่ทำผ้าครามมัดหมี่มานานกับเด็กรุ่นใหม่เกิดเป็นการผสมผสานทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความแปลกต่างไปจากเดิมและเกิดเป็นเอกลักษณ์ใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวได้จำลองทุกขั้นตอนในการทำผ้าครามมัดหมี่แต่อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้เด็กเปิดใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนมากขึ้น
ทางด้าน นางสาวภัณทิรา รัศมีธรรม หรือ น้องเบล เจ้าของผลงาน "sport bra" กล่าวว่าตนมีแรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกแบบชุดชั้นในสปอร์ตบราสำหรับผู้สูญเสียเต้านม เพราะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดจะเกิดความรู้สึกสูญเสียความเป็นผู้หญิง ประกอบกับชุดชั้นในสำหรับผู้สูญเสียเต้านมที่มีอยู่ปัจจุบันไม่มีแบบให้เลือกใส่แล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนป่วย จึงอยากทำชุดชั้นในสำหรับผู้สูญเสียเต้านมได้สวมใส่แล้วรู้สึกเกิดความมั่นใจและดูสวยทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดจะต้องออกกำลังกายตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อให้เขาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติและส่งเสริมความมั่นใจที่ดีขึ้น จึงมีแนวคิดออกแบบชุดชั้นในแบบสปอร์ตบราเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสวมใส่บราสำหรับการออกกำลังกายได้ด้วย ทำให้มีความมั่นใจเวลาที่ออกไปใช้ชีวิตประจำวันข้างนอกบ้านได้เหมือนเมื่อก่อน
"การที่หน้าอกไม่เท่ากันเวลาเคลื่อนไหวหรือเวลาออกกำลังกายหากไม่กระชับจะทำให้หน้าอกหรือเต้าเทียมที่ใส่อยู่เคลื่อนที่ผิดรูปทรงได้ ดังนั้น ชุดชั้นในที่ออกแบบขึ้นนี้ จึงมีความแตกต่างจากชุดชั้นในปกติ คือ การเพิ่มส่วนที่ปกปิดหรือช่วยอำพรางในส่วนที่เป็นรอยแผลบริเวณที่ผ่าตัดหน้าอกเพิ่มขึ้น แต่มีความเป็นแฟชั่นและทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากคนที่เป็นมะเร็งเต้านมเนื้อบางส่วนจะหายไป และปรับส่วนโครงรับเต้าจากโครงเหล็กมาเป็นเส้นเชือกหรือยางซึ่งจะให้ความรู้สึกที่นุ่มและยืดหยุ่นมากกว่าลดการเสียดสีขณะออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังได้ออกแบบเต้านมเทียมให้มีความหลากหลายเพราะแต่ละคนมีลักษณะสรีระของเต้านมที่ไม่เหมือนกันจากเดิมที่มีเพียงแบบเดียวใส่แล้วอาจไม่เข้ากับหน้าอกอีกข้างที่เหลือ และเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น ยังได้ออกแบบชุดชั้นในสำหรับผู้สูญเสียเต้านมขึ้น 3 คอลเลคชั่นที่แตกต่างกันมีทั้งแบบเซ็กซี่ แบบหวาน และแบบสปอร์ต ให้เป็นบราแนวแฟชั่นสำหรับคนกลุ่มนี้ สำหรับผลงานการออกแบบนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบริษัท ไทยวาโก้ ผู้ผลิตชุดชั้นในผู้หญิงรายใหญ่ในการให้คำปรึกษาแนะนำเทคนิควิธีการขั้นตอนการผลิตต่างๆ ทั้งการตัดเย็บ การต่อลายผ้า ตลอดจนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในครั้งนี้"