กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ธนาคารเอเชีย
แบงก์เอเชียเปิดศักราชใหม่ ประเดิมจับมือ "สามารถอินเตอร์เนต" เปิดให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกกว่า 2,000 ราย ด้วยเครือข่ายการให้บริการแบบครบวงจร ด้วยระบบออนไลน์แบบ Real-time ผ่านอินเตอร์เนต นับเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนธุรกิจส่งออกในประเทศไทยให้ก้าวสู่การทำธุรกิจพาณิชน์อิเล็คทรอนิกส์อย่างแท้จริง
นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน e-Commerce และ e-Banking ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามร่วมกับ บริษัทสามารถอินเตอร์เนต จำกัด ในการเปิดให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แบบครบวงจร ด้วยระบบออนไลน์แบบ Real-time ผ่านอินเตอร์เนต สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกของประเทศไทยกว่า 2,000 ราย ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ โดยธนาคารได้เปิดให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งออก อาทิ การขนส่ง (Logistics) การจ่ายเงินผ่านทางออนไลน์ (Online Payment & Payment Gateway) การประกันภัย (Insurance) การรับรองความน่าเชื่อถือของสินค้าที่นำส่ง (Trustee) และอื่นๆ โดยเน้นการทำธุรกรรมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระดับธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) และการให้บริการด้าน Trade Finance เพื่อให้ธุรกิจส่งออกเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร
"ธนาคารเอเชียได้เปิดให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับการค้า และการชำระเงินระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อแบบไร้พรมแดน ด้วยการให้บริการของธนาคารจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจ นับเป็นการลดขั้นตอนในการดำเนินการ การชำระเงิน และการบริหารเงิน พร้อมระบบที่ช่วยจัดการในเรื่องของการชำระเงิน การกระทบยอดรายการทางธนาคาร และการบริหารบัญชีลูกหนี้ เจ้าหนี้" นางสาววิลารรณ กล่าว
ด้านนายศิริชัย รัศมีจันทร์ กรรมการ บริษัท สามารถอินเตอร์เนต จำกัด เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการแก่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการส่งออกของประเทศไทย ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทกับธนาคารเอเชียจึงเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนธุรกิจส่งออกในประเทศไทยให้ก้าวสู่การทำธุกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขันทางด้านการค้าแบบไร้พรมแดนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ซื้อ และผู้ขายสินค้าทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) เพื่อส่งเสริมให้บริษัททั้งสองฝ่ายสามารถตอบสนองความต้องการ และความพึงพอใจของลูกค้าได้มากขึ้น
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้พัฒนาเว็บไซต์ ที่จะมีส่วนร่วมในการออกแบบจะจัดทำเว็บไซต์ให้กับผุ้ดำเนินธุรกิจส่งออกที่เข้าร่วมโครงการ ธนาคารได้ให้บริการด้านการเงิน ในการดำเนินการเปิดบัญชีแก่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ เพื่อโอนเงินค่าธรรมเนียมในการจัดทำให้แก่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ อีกทางหนึ่งด้วย