กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กรีนพีซ
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ใน 10 เมืองของประเทศไทยเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
กรีนพีซเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษนำเอาดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 มาใช้
วันนี้กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในประเทศไทย โดยการจัดอันดับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ "ขออากาศดีคืนมา #RightToCleanAir" เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทยจากมลพิษทางอากาศ พร้อมกันนี้ กรีนพีซเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษให้นำเอาดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 มาใช้ เพื่อความแม่นยำในการที่จะระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพ
ในการจัดอันดับเมืองที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) ครั้งนี้ กรีนพีซประมวลผลข้อมูล PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานี ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ(2) ซึ่งพบว่า เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 เมืองที่มีค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5 ไมครอน(PM2.5) สูงสุด 5 อันดับคือ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น กรุงเทพฯ และราชบุรี นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2557-2559 มีค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ทั้ง 11 พื้นที่ใน 10 จังหวัด สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ที่ 10ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเป็นสิ่งที่เล็กเกินมองเห็น แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่กรมควบคุมมลพิษไม่ควรมองข้ามคือ ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะบอกว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราหรือไม่อย่างไร"
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มาจากภาคการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต ที่อยู่อาศัย ธุรกิจการค้า และการเผาในที่โล่งแบ่งได้เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและฝุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) เป็นต้น ในปี พ.ศ.2556องค์การอนามัยโลก(WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า "ฝุ่นที่เราคิดว่าไม่มีอันตรายอะไร แต่แท้จริงฝุ่นขนาดเล็กมากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งบางชนิดได้ ฝุ่นพิษขนาด 2.5 ไมครอน นั้นเล็กมากจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้นฝุ่นพิษจึงเป็นตัวนำสารพิษสู่ร่างกายโดยเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด และนอกจากเป็นปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ยังทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองอุดตันได้ด้วย"
ดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ คำนวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษเพียง 12 สถานีใน 10 จังหวัดทั่วประเทศที่สามารถติดตามตรวจสอบและรายงานค่า PM2.5
จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปว่า "แทนที่จะเอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษ รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมือดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อทำให้อากาศดีคืนมาและรับประกันถึงสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด"