กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ทีมวิจัย นศ.ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลเหรียญเงินในการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ จากการส่งผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการสกัดสารสกัดชีวภาพ จากดอกดาหลาเพื่อใช้ในเวชสำอาง (Biocompound from torch ginger for cosmeceutical products) เข้าประกวดในงานนวัตกรรมระดับนานาชาติ ณ ประเทศแคนาดา iCAN2016: International Invention Innovation Competition in Canada เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2559
กระบวนการสกัดสารสกัดชีวภาพจากดอกดาหลาเพื่อใช้ในเวชสำอาง เป็นผลงานของ 1. นายณัฐวุฒิ หวังสมนึก 2.นายอุเทน จำใจ 3.นางสาวรัตนาภรณ์ จันทร์ทิพย์ หลักสูตรสหวิทยาการเกษตร สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล สังกัดคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ดาหลาเป็นดอกไม้ในตระกูลขิงที่มีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอม ชาวบ้านโดยเฉพาะในภาคใต้นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารในครัวเรือน จากการศึกษาวิจัย พบว่า ฤทธิ์ชีวภาพจากสารสกัดดอกดาหลาคือ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรสิเนสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดจุดด่างดำ และไม่พบความเป็นพิษเมื่อทดสอบในเซล โดยกลุ่มสารสำคัญที่พบมากจากดอกดาหลาและออกฤทธิ์ชีวภาพคือ สารประกอบฟีโนลิก (phenolic compounds) เช่น เคอร์ซิติน แทนนิน ฟลาวานอยด์ เทอร์พีนอยด์ นอกจากนั้น ดอกและเมล็ดดาหลาสดยังมีสารสำคัญชนิดสารประกอบฟีนอลิกเป็นองค์ประกอบ และให้สารสกัดมีสีแดงสด มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายขิง และยังตรวจพบวิตามินซีจากดอกดาหลาอีกด้วย
การนำสารสกัดดอกดาหลาซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านไปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและช่วยปรับผิว ให้ขาวกระจ่างใส จึงเป็นผลผลิตจากการแปรรูปสารสกัดสามารถใช้ประโยชน์จากดอกดาหลาได้ทั้งหมดโดยไม่มีของเหลือใช้ (zero waste) ผลงานชิ้นนี้จึงมีความเป็นนวัตกรรมในด้านกระบวนการผลิตสารสำคัญที่มีฤทธิ์ชีวภาพในการบำรุงผิวหน้า โดยกระบวนการสกัดนอกจากมีราคาต้นทุนในการสกัดต่ำแล้ว ยังใช้วิธีการที่ไม่มีสารตกค้าง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงิน โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 225 ผลงาน จาก 36 ประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า "ขอขอบคุณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งผลงานเข้าประกวดจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ การช่วยเหลือทางวิชาการและส่งผลงานเข้าประกวดจากสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย (ATIP) โดยผลงานดังกล่าวได้รับทุนวิจัยจากโครงการทุนพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระดับปริญญาเอก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง ผลิตภัณฑ์ความงามจากดอกดาหลา จากการสนับสนุนดังกล่าว ทำให้เรามีผลงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ และสามารถต่อยอดผลงานเชิงพานิชย์ สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและประเทศชาติต่อไป"