กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
แทรคเตอแบล (Tractebel) ได้ลงนามในสัญญาซื้อโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัท ไซท์ แปซิฟิก (Sithe Pacific) ในประเทศไทยทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ หุ้นประมาณ 62% ที่ถืออยู่ในบริษัท เดอะ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (COCO) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมกับหุ้นที่ถืออยู่ 100% ในบริษัท สมุทรปราการ โคเจนเนอเรชั่น และบริษัท หนองแค โคเจนเนอเรชั่น
ปัจจุบัน COCO มีโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 3 โครงการใน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แหล่งผลิต ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีความสำคัญที่สุดในประเทศไทย ใกล้กับโรงไฟฟ้า บริษัท พลังงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทเอช-เพาเวอร์ (H-Power) ที่แทรคเตอแบล ถือหุ้นอยู่ 75%
โครงการระยะที่ 1 เป็นโรงงานผลิตไอน้ำ และน้ำสะอาดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม มีกำลังการผลิตไอน้ำ 250 ตันต่อชั่วโมง (เทียบเท่ากับปริมาณพลังไฟฟ้า 200 เมกกะวัตต์) และ น้ำสะอาดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม 1,370 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โครงการในระยะที่สองเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 320 ตันต่อชั่วโมง (เทียบเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์) และน้ำสะอาดที่ใช้ในอุตสาหกรรม 1,180 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับโครงการไฟฟ้าระยะที่สามเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม "hybrid" ซึ่งรวมระบบการผลิตโดยใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 470 เมกะวัตต์ ไอน้ำได้ 360 ตันต่อชั่วโมง (เทียบเท่าปริมาณพลังไฟฟ้า 300 เมกกะวัตต์) และน้ำสะอาดที่ใช้ในอุตสาหกรรม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการ จำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำ ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมโดยตรงเป็นหลัก ภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว สำหรับปริมาณไฟฟ้าในส่วนที่เหลืออยู่ก็จะจำหน่ายให้การ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
ผลจากธุรกรรมดังกล่าวทำให้แทรคเตอแบล ถือหุ้น 100 % ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของ บริษัท สมุทรปราการ โคเจนเนอเรชั่น และบริษัท หนองแคโคเจนเนอเรชั่น ทั้งสองแห่งนี้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 126 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 35 ตันต่อชั่วโมง (30MWth) โดยจำหน่ายไฟฟ้า และไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมและ EGAT
การซื้อขายครั้งนี้ มีมูลค่าทั้งสิ้น ประมาณ 490 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 5 แห่งนี้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1,022 เมกะวัตต์ และพลังงานความร้อนเชิงอุณหภาพเทียบเท่ากับ 820 เมกะวัตต์
ดร. เดิร์ก บิวแซท ประธานเจ้าหน้าที่ผ่ายบริหาร บริษัท แทรคเตอแบล ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "การซื้อกิจการครั้งนี้จะเพิ่มความแข็งแกร่ง และขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในประเทศไทย และทำให้ แทรคเตอแบล เป็นเอกชนรายใหญ่ที่สุดที่ลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ เมื่อโรงไฟฟ้าบ่อวินของบริษัท เอช เพาเวอร์ ก่อสร้างเสร็จแล้ว จะทำให้กำลังการผลิตทั้งหมดของโรงไฟฟ้าในเครือมีมากกว่า 1900 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับเกือบ 10% ของปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย การดำเนินการในครั้งนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างฐานความแข็งแกร่งด้านการบริการให้กับลูกค้าร่วมกันกับเอช เพาเวอร์ และ บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด"
แทรคเตอแบล กรุ๊ป ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจด้านพลังงานในประเทศไทย โดยร่วมลงทุนในเอช-เพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (25%) และแทรคเตอแบล (75%) โดยปัจจุบันเอช เพาเวอร์ มีบริษัท ในเครือ ดังนี้
-โรงไฟฟ้าบริษัท บ่อวิน เพาเวอร์ (ถือหุ้น 100% โดย เอช-เพาเวอร์): บ่อวิน เพาเวอร์เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระ โรงไฟฟ้าบ่อวิน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีขนาดกำลังการผลิต 741 เมกะวัตต์ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประมาณเดือนเมษายน 2545 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ที่ผ่านมา
-โรงไฟฟ้า บริษัท พลังงานอุตสาหกรรม (ถือหุ้น 100% โดย เอช-เพาเวอร์): เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังการผลิต ไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 100 ตันต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้านี้ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งได้จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และไฟฟ้า และไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม
-บริษัท อินดัสเทรียล วอเตอร์ ซัพพลาย (ถือหุ้น 100% โดย เอช-เพาเวอร์): เป็นโรงงานผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อสนองตอบความต้องการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในเขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว โรงผลิตน้ำดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 240 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ในกรณีที่ความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น
นอกจาก การลงทุนใน เอช เพาเวอร์ แล้ว แทรคเตอแบล ยังได้ร่วมลงทุนในบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินธุรกิจการค้าปลีกก๊าซธรรมชาติให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม โดยดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้กับนิคมอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ได้แก่ แทรคแตอแบล (49%) ปตท. (49%) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2%)
แทรคเตอแบล เอนจิเนียริ่ง หนึ่งในกลุ่มบริษัทในเครือ แทรคเตอแบล ได้จัดตั้ง บริษัท โปร-เอ็น เทคโนโลยีส์ จำกัด เพื่อให้บริการงานด้านวิศวกรรมต่างๆ รวมไปถึง การบริหารโครงการ ด้านไฟฟ้าและพลังงาน น้ำและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า โยธาและ วิศวกรรมโครงสร้าง
บริษัท เอลโย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของแทรคเตอแบล ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 โดยได้ร่วมกับเตียวฮง กรุ๊ป เพื่อให้บริการด้านวิศวกรรมสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เอลโยได้ร่วมกับ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน ในโครงการบริหาร โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน เอลโยและบริษัทในเครือในประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 300 คน ที่ดำเนินการด้านงานบริการหลากหลายรูปแบบให้กับลูกค้า
นอกจากการดำเนินการในประเทศไทยแล้ว แทรคเตอแบล อีจีไอ ได้เข้าลงทุนในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียอาคเนย์อีก เช่น ในสิงคโปร์และเกาหลีใต้ รวมทั้งได้มีการพัฒนาโครงการหลากหลายอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้
แทรคเตอแบล เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ และให้บริการด้านพลังงานของโลก โดยเป็นบริษัทหลักที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในเครือของ ซูเอซ ลียงแนส เดส์ โอ กรุ๊ป
เผยแพร่โดย บริษัท แทรคเตอแบล จำกัด
ผ่าน บริษัท แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ มร.โยฮัน เดอ เซเกอร์
รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท แทรคเตอแบล เอส. เอ.
โทร. 717 2232 แฟ็กซ์ 717 3048
e-mail: johan@ksc7.th.com
คุณอนุตร จาติกวนิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอช-เพาเวอร์ จำกัด
โทร 717 2244 แฟ็กซ์ 717 2240
e-mail : boss@hpower.co.th-- จบ--
-อน-