SBAC คว้ารางวัลชนะเลิศ “Cabling Contest ปี 4” ตัวแทนเยาวชนภาคกลาง ทะลุเข้ารอบชิงถ้วยพระราชทาน

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2016 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาครัฐ จัดโครงการแข่งขัน "สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ ปี 4 (Cabling Contest 2016)" รอบคัดเลือกภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เทคโนโลยีสายสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันผ่านการแข่งขันทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ คว้าที่ 1 เป็นตัวแทนภาคกลาง ทะลุเข้าไปแข่งขันรอบสุดท้าย ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน พร้อมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 400,000 บาท และมีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก ASEAN World Skills "จากความสำเร็จของโครงการ สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ (Cabling Contest) ปี 1 – 3 ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของวงการการศึกษาด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจสายสัญญาณ จึงได้ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ (Cabling Contest) ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้การสนับสนุนของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ LINK จากสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับอาชีวศึกษา ได้เรียนรู้เทคโนโลยีสายสัญญาณที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันผ่านกิจกรรมการอบรมและแข่งขัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา พร้อมต่อยอดทักษะและความรู้ในเวทีระดับโลก ยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ ซึ่งประสบการณ์ที่ผู้ร่วมการแข่งขันจะได้รับในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสายสัญญาณในประเทศไทยอีกด้วย" นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "หลายคนอาจจะมองข้ามหรือไม่เห็นความสำคัญของสายสัญญาณ เพราะเรามักจะเข้าใจกันว่าระบบสื่อในปัจจุบันเป็นแบบไร้สายหรือ Wire less แต่จริงๆ แล้ว โครงสร้างของระบบสื่อสารที่สำคัญก่อนจะมาเป็น Wire less ก็คือ สายสัญญาณ ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือที่เราใช้งานกันทุกวันนี้ เมื่อเราโทรออกไปยังสหรัฐอเมริกา จะส่งคลื่นสัญญาณไปยังเสารับสัญญาณในระยะรัศมี 1 กม. หลังจากนั้นสัญญาณจะวิ่งผ่านสายไฟเบอร์ ออฟติก ลงทะเลออกจากศรีราชา ไปถึงญี่ปุ่น เพื่อส่งต่อไปยังปลายทางอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นเราจึงอยากเห็นเยาวชนไทยของเรา ได้พัฒนาและมีความสามารถที่จะสร้างโครงสร้างที่สำคัญของระบบสื่อสารให้ทัดเทียมกับทั่วโลกได้ และปีนี้เราได้เป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับกระทรวงแรงงานในการแข่งขันสุดยอดฝีมือแรงงานอาเซียนที่ประเทศบรูไนด้วย ซึ่งเราก็จะคัดเลือกน้องๆ จากโครงการนี้ไปแข่งขัน เพื่อหาประสบการณ์ในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นารสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วย" นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า "นอกจากอินเตอร์ลิ้งค์จะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจจนเป็นบริษัทชั้นนำในระดับประเทศแล้ว ยังเสียสละทำงานด้านสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะกิจกรรม Cabling Contest ที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสมาเรียนรู้และแข่งขัน เพื่อพัฒนาฝีมือตัวเองในสายวิชาชีพ ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับโอกาสไปแข่งขันในระดับสากล สำหรับรางวัลในประเทศ ผมถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดนั่นคือ ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่ายิ่ง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของน้องๆ ในการแข่งขันครั้งนี้ คงไม่ใช่มีเพียงแค่การเป็นผู้ชนะเท่านั้น อีกหนึ่งเป้าหมายคือ โอกาส ดังนั้นถึงแม้ว่าน้องๆ จะชนะในวันนี้หรือไม่ก็ตาม แต่น้องๆ ได้รับโอกาสที่สำคัญยิ่งแล้วในการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง เพื่อเป็นประสบการณ์ติดตัวไป ทิศทางที่ก้าวมาเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว สำหรับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพราะตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการคนที่ทักษะด้านวิชาชีพนี้เป็นอย่างมาก กระทรวงแรงงานมีตัวอย่าง น้องที่เป็นช่างในสายงานต่างๆ ที่ตั้งใจฝึกฝน สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ด้วยรายได้เดือนละ 2 – 3 แสนบาท น้องๆ กลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญก้าวไปเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป" ในส่วนของรูปแบบการแข่งขัน นายณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า "ปีที่แล้วเราได้รับการตอบรับจากนิสิต นักศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วนรูปแบบการแข่งขันในปีนี้ ยังคงแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเช่นเดิม ซึ่งภาคปฏิบัติเป็นการแข่งขันเข้าหัวต่อกับสายสัญญาณ LAN (สายสัญญาณเครือข่ายคอมพิวเตอร์) และการแข่งขันเข้าหัวต่อกับสาย COAXIAL (สายกล้องวงจรปิด CCTV) นอกจากนี้เรายังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของสาย FIBER OPTIC (สายใยแก้วนำแสง) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในยุคติจิดอล โดยจะจัดรอบคัดลือกทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เป็นภูมิภาคที่ 4 แล้วที่เราจัดการแข่งขัน ซึ่งมีน้องๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจากหลากหลายสถาบันกว่า 400 คน" สำหรับรอบภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายกันตพิชญ์ ริยะสุ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) วิทยาเขตสะพานใหม่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายเจษฎา เดชวังกลาง จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) วิทยาเขตสะพานใหม่ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายธนพล วงศ์เขื่อนแก้ว จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตนนทบุรี นอกจากนี้ยังมีผู้ผ่านการคัดเลือกอีก 12 คนที่ได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน "ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 55 คนจากทั่วประเทศ จะได้รับสิทธิ์เข้าไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและขวัญกำลังใจอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับถ้วยเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท" นายณัฐวุฒิเสริม สำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย ภาคเหนือ จะจัดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ติดตามข่าวสารหรือสนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันรอบต่อไปได้ที่ www.cablingcontest.com สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-693-1222 ต่อ 363-374

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ