กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีมติเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานหลักปฏิบัติด้านสุขลักษณะสำหรับทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นมาตรฐานบังคับ โดยเร่งรัดให้มีการจัดตั้งองค์ประกอบคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งจะต้องเร่งพิจารณาหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็ง ซึ่งเป็นที่ต้องการของและที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก ทำให้มี การลักลอบส่งออกทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน และขาดสุขลักษณะ กระทรวงเกษตรฯ จึงจำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าทุเรียนจากไทย ซึ่งมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมดในปี 2558 มีปริมาณ 11,200ตัน คิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท โดยเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็งประมาณ 1,590 ตัน มูลค่าประมาณ105 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป 6 เรื่อง ได้แก่ 1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมีคุณภาพ ปราศจากโรค และแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในไทยเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก และมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น 2. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงปลาทะเล และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐาน 3. แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตรังไหม 4. การชันสูตรโรคไอเอชเอชเอ็นวีในกุ้ง และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐาน 5.สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MLRs เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สามารถใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้าได้ และ 6. มาตรฐานแตงเทศหรือเมลอน ซึ่งเป็นผลไม้ผลไม้ที่มีมูลค่าสูง โดยปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกแตงเทศประมาณ 3,100 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 7,700 ตัน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระแก้ว และนครราชสีมา ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังมี การนำเข้าแตงเทศจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 102 ล้านบาท
ด้านนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ มกอช. จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นอีก 6 ชุด เพื่อจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร ตามที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการได้ขอให้จัดทำมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการผลิต นำเข้า และส่งออก ประกอบด้วย 1. มาตรฐานแอปเปิ้ล เพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 ประเทศไทยมี การนำเข้าแอปเปิ้ลจากต่างประเทศ ประมาณ 1.3 แสนตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาท 2. มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) ในต้นพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ในประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 8.5 ล้านไร่ 3. มาตรฐานจีเอพีในพืชสมุนไพร ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องยกระดับมาตรฐานพืชสมุนไพรให้สูงขึ้นตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปี 2560 – 2564 4. มาตรฐานจีเอพีในยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก 5.มาตรฐานปลาร้า เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปมีการยกระดับการผลิตปลาร้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยในแต่ละปี ประเทศไทยสามารถผลิตปลาร้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศประมาณ 4 หมื่นตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท 6. มาตรฐานจีเอพีการเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสวยงาม เพื่อเป็นการพัฒนามูลค่าตลาดของสัตว์น้ำทะเล สวยงามให้สูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมามอกช.ได้มีการออกมาตรฐานจีเอพีสัตว์น้ำจืดสวยงามไปแล้ว ซึ่งภาพรวมของตลาดสัตว์น้ำสวยน้ำงามในแต่ละปี จะมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นสัตว์น้ำจืด 90% สัตว์น้ำทะเล 10%
นอกจากนี้ คณะกรรมาการฯ ยังได้มอบหมายให้ มกอช. พิจารณาทบทวนร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน GMP/HACCP ตามข้อคิดเห็นของที่ประชุม โดยเฉพาะเรื่องค่าธรรมเนียมการบริการตรวจสอบรับรองในกรณีไปใช้บริการจากหน่วยตรวจสอบรับรองของเอกชน ควรพิจารณาให้รอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ด้วย รวมถึงทบทวนหลักเกณฑ์การคิดจำนวนวันทำงานของผู้ตรวจที่เข้าไปตรวจประเมินในฟาร์มหรือสถานประกอบการ ให้ครอบคลุมทุกมิติ ก่อนเสนอเป็นกฎกระทรวงฯ ต่อไป