กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพล นิคมอุตสาหกรรม 5 ปัจจัยฉุด 10 ปัจจัยหนุนเงื่อนไขการทำธุรกิจและบรรยากาศการลงทุน กรณีศึกษาตัวอย่างบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จำนวน 418 ตัวอย่างบริษัท ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 - 7 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่า
กลุ่มบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.66 คาดว่า เงื่อนไขการทำธุรกิจของบริษัท ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 28.35 คาดว่า จะเหมือนเดิม และร้อยละ 2.99 คาดว่าแย่ลง เมื่อถามถึงตลาดธุรกิจของ บริษัท ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.62 คาดว่าจะดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 31.34 คาดว่าจะเหมือนเดิม และร้อยละ 3.04 คาดว่าจะแย่ลง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.69 คาดว่า ฐานะการเงินของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 34.33 คาดว่าจะเหมือนเดิม และร้อยละ 2.99 คาดว่าจะแย่ลง ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง ปัจจัยฉุดในการทำธุรกิจของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม พบ 5 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 ได้แก่ การเปลี่ยนงานบ่อยของพนักงาน ร้อยละ 46.27 อันดับที่ 2 ได้แก่ ความต้องการของตลาด ที่ไม่คงที่ ร้อยละ 43.28 อันดับที่ 3 ได้แก่ คุณภาพแรงงาน ทักษะฝีมือแรงงาน ร้อยละ 41.79 อันดับที่ 4 ได้แก่ ภาษาต่างประเทศของพนักงานคนไทย เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ร้อยละ 40.30 อันดับที่ 5 ได้แก่ การเมืองเปลี่ยน นโยบายดีๆ เปลี่ยน ร้อยละ 37.76 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม 10 ปัจจัยหนุน การทำธุรกิจของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมคือ อันดับแรก ได้แก่ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดเผยของหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 80.98 อันดับที่ สอง ได้แก่ มาตรการด้านภาษี การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ร้อยละ 77.61 อันดับที่สาม ได้แก่ ระบบ คมนาคม การขนส่ง ร้อยละ 74.63 อันดับที่สี่ ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำปะปา การติดต่อสื่อสาร ร้อยละ 70.15 อันดับที่ สี่ เช่นกัน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 70.15 อันดับที่หก ได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการของคนในบริษัท ร้อยละ 68.66 อันดับที่ เจ็ด ได้แก่ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ร้อยละ 65.64 อันดับที่ แปด ได้แก่ โอกาสเติบโตของตลาด ร้อยละ 65.17 อันดับที่ เก้า ได้แก่ วัตถุดิบ ร้อยละ 64.18 และ อันดับที่ สิบ ได้แก่ คุณภาพแรงงาน ร้อยละ 56.72 ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า เสียงสะท้อนของกลุ่มบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เงื่อนไขการทำธุรกิจของบริษัทต่างๆ กำลังมุ่งสู่ความสดใสในอีก 12 เดือนข้างหน้า เช่น ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดเผยของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ฐานะการเงินของบริษัท การตลาด ปัจจัยการผลิต มาตรการทางภาษี อัตราดอกเบี้ย ระบบคมนาคม ขนส่ง การติดต่อสื่อสาร ความสามารถในการบริหารจัดการ และรวมไปถึง นโยบายการค้าต่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุนของ BOI แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยฉุด อันดับต้นๆ คือ การเปลี่ยนงานบ่อยของพนักงาน ความต้องการของตลาดไม่คงที่ คุณภาพแรงงาน ทักษะฝีมือแรงงาน ภาษาต่างประเทศ และ การเมืองเปลี่ยน นโยบายดีๆ ของรัฐเปลี่ยน