สรุปการประชุม “ระบบการออมเพื่อเกษียณอายุในเอเชีย”

ข่าวทั่วไป Friday April 29, 2005 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ก.ล.ต.
การประชุม “ระบบการออมเพื่อเกษียณอายุในเอเชีย” หรือ Private Pensions in Asia เมื่อวันที่ 27-28 เมษายน 2548 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คนจาก 28 ประเทศ ต่างได้รับความรู้และมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ในประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบการออมเพื่อเกษียณอายุของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพต่อไป
นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวสรุปภาพรวมในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้
ร่วมกับ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development), IOPS (International Organisation of Pension Supervisors) และรัฐบาลญี่ปุ่น ว่า “ การประชุมครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการพัฒนาและกำกับดูแลระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ในเอเชียได้รับโอกาสศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศในกลุ่มสมาชิก OECD สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการพัฒนา และกำกับดูแลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ”
สำหรับประเด็นจากการประชุมที่สำคัญ ๆ สรุปได้ดังนี้
1. กรณีศึกษาของระบบการออมเพื่อเกษียณอายุในประเทศไทย ดร.นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนภาคบังคับสำหรับลูกจ้างเอกชนในประเทศไทย (National Pension Fund : NPF) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และคาดว่า NPF จะมีผลใช้บังคับได้ในวันที่ 1 มกราคม 2550 ในขณะที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ได้เสนอมุมมองจากภาคเอกชนว่า ปัจจัยที่จะทำให้ NPF ประสบความสำเร็จได้ ประกอบด้วยการออกกฎหมายใช้บังคับ การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่กำกับดูแล และหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดเก็บเงินเข้ากองทุน การเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนมีทางเลือกในการลงทุน (individual investment choice) ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจ
2. การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ในประเด็นเกี่ยวกับ การมอบหมายให้เอกชน (external managers) บริหารทรัพย์สินของ กองทุนเพื่อการเกษียณอายุของข้าราชการ (public pension) มากขึ้น และการเปิดโอกาสให้กองทุน ดังกล่าวสามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน รวมทั้ง การให้สิทธิสมาชิกกองทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่ตน ยอมรับได้ ในการนี้ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้กล่าวถึงการเตรียมการของ กบข. ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว รวมถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่สมาชิกกองทุนเกี่ยวกับแนวคิดของการจัดให้มี individual investment choice ตลอดจนแนวทางในการเลือก individual investment choice
3. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่สมาชิกกองทุนและผู้ทำหน้าที่บริหารเงินของ
กองทุน (fiduciaries) ได้แก่ ผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustee) และผู้จัดการกองทุน (fund manager)
ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศควรเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการให้ความรู้แก่สมาชิกกองทุนให้เห็นถึงความสำคัญของการออมเพื่อเกษียณอายุ และสำหรับการให้ความรู้แก่ fiduciaries นั้น องค์กรกำกับดูแลควรจัดอบรมและจัดทำแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีให้แก่
trustee ด้วย
นอกจากนี้ ได้มีการแนะนำองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ
ได้แก่ International Organization of Pension Supervisors หรือ IOPS ซึ่งมี Mr. John Ashcroft เป็นประธาน โดย Mr. John Ashcroft ได้แจ้งแผนงานของ IOPS ที่จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2005 ให้ที่ประชุมทราบ ได้แก่ Guidelines for Good Practices in Pension Schemes Supervision และ Core Elements of a Risk Based Approach to Pension Supervision and Strategic Planning--จบ--

แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ