กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเร่งรีบในหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ส่งผลให้ครอบครัวและชุมชนมีความห่างเหิน ความสัมพันธ์ของผู้คนไม่แน่นแฟ้น เด็กและเยาวชนขาดภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต ต้องประสบกับปัญหายาเสพติด ติดสื่อ ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร มีการกระทบกระทั่งกันในครอบครัว และความเสี่ยงอื่น ๆ มากมาย ผลสำรวจของสถาบันรักลูกพบว่า เด็กไทยกว่า 2.7 ล้านคน หรือร้อยละ 22 เคยพบเห็นการเสพยาในโรงเรียน และมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ติดยาเสพติด 7 คนในทุก ๆ 1,000 คน และเด็กไทยตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องมีการแก้ไขและใช้ความร่วมมือระดับประเทศ
สร้างระยอง สู่เมืองต้นแบบ EF Happy and Safe City จังหวัดระยอง ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากการแทรกซึมของสังคมเมืองและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้สถานการณ์ยาเสพติดและปัญหาแม่วัยใสในจังหวัดค่อนข้างน่ากังวล กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยองมากว่า 20 ปี พร้อมด้วยคณะยุทธศาสตร์แผนพัฒนาบ้านฉาง สถาบันรักลูก ผู้นำชุมชน ครู อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และแกนนำจากภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดระยอง เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัญหาความเสี่ยงและช่วยแนะแนวทางให้พ่อแม่รับมือกับปัญหาในอนาคต จึงดำเนินโครงการ "Rayong EF Happy and Safe City" เพื่อส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดีให้กับเด็ก ผ่านชุดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมองที่ทำให้มนุษย์รู้จักควบคุมอารมณ์ ยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจถูกต้อง ซึ่งส่งผลต่อพื้นฐานนิสัยให้เติบโตแล้วคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น และมีความสุข โดยทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จหรือ Executive Functions (EF) นี้ เป็นทักษะสำคัญที่ควบคุม IQ และ EQ ของมนุษย์อีกขั้นหนึ่ง มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มทักษะ ได้แก่ กลุ่มทักษะพื้นฐาน กลุ่มทักษะกำกับตนเอง และกลุ่มทักษะปฏิบัติ สมองเด็กสามารถพัฒนา EF ได้ดีที่สุดในช่วงอายุตั้งแต่ 0-6 ปี และฝึกฝนต่อไปได้เรื่อย ๆ จนสมองพัฒนาเต็มที่ที่อายุประมาณ 25 ปี
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กล่าวว่า "กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสถาบันรักลูก มุ่งผลักดันให้ระยองเป็นจังหวัดนำร่องภายใต้โครงการ EF Happy and Safe City โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชนในจังหวัดระยองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับ ดาว มากที่สุด คือ ชุมชนมาบตาพุดและบ้านฉาง ผ่านการสร้างและอบรมอาสาสมัคร "ทีมเพื่อนคุยวัคซีนชีวิต" (Change Agent) ให้นำชุดความรู้ EF ไปปรับใช้ในพื้นที่เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ต่อยอดในระดับประเทศต่อไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีโครงการในพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับเมืองลักษณะนี้และมีการผสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน"
การปรับทักษะที่เริ่มได้จากตนเอง
การอบรมการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดีให้กับเด็กด้วยชุดความรู้ Executive Functions มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ เสริมศักยภาพบุคลากร และเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตรหลาน จากการนำสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์เดิมมาต่อยอด ซึ่งความรู้ด้าน EF นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีในชีวิตประจำวันและการทำงาน ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะในเด็กเท่านั้น
ครูหม่อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้บรรยายพิเศษ "EF กับการสร้างภูมิคุ้มกัน" แนะแนวทางว่า "การเรียนรู้เรื่อง EF นั้นยืดหยุ่นไปตามประสบการณ์ หากมีความเข้าใจในหลักการและมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถปรับพฤติกรรมของเด็กและผู้คนรอบข้างได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัยในครอบครัว เพราะเมื่อเด็กมีสมองส่วนอารมณ์ที่อิ่มแล้ว EF จะทำงานได้ ตัวอย่างที่พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้ เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้คำแง่ลบ "ห้าม อย่า หยุด ไม่" เพราะเมื่อเด็กได้ยินคำเหล่านี้ สมองของพวกเขาจะไม่สามารถจินตนาการเป็นภาพ และพัฒนาเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ได้ ควรใช้วิธีถามคำถามหรือให้ข้อมูลเพื่อให้เขาได้เรียนรู้และตัดสินใจด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก ๆ แทน"
การสร้าง Change Agent เพื่อชุมชนที่แข็งแกร่ง ทีมเพื่อนคุยวัคซีนชีวิต (Change Agent: ผู้นำการเปลี่ยนแปลง) เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างแรงกระตุ้นในครอบครัวและชุมชนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพ มีการสื่อสาร ทำงานร่วมกัน นัดหมายเพื่อลงพื้นที่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ด้วยแนวคิดที่ว่าคนทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ครูเวียง เขตแวงควง จากโรงเรียนวุฒินันท์ ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง หนึ่งในอาสาสมัครผู้เข้าร่วมการอบรม ได้เผยประสบการณ์ในการใช้หลักการ EF เพื่อปรับพฤติกรรมของลูกชายที่เคยติดเกมส์ ติดเพื่อน ออกจากบ้านในเวลากลางคืน โดยเสนอห้องในบ้านให้เป็นที่นัดพบของเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้ไม่ไปมั่วสุมในที่ที่ห่างไกลสายตาผู้ใหญ่ "ตอนนั้นใช้หลักการEF ในการรับมือกับลูกชายและเพื่อนของลูก โดยไม่ห้าม ไม่สกัดกั้น แต่ประคับประคอง เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกมีความไว้ใจและรู้สึกว่าได้รับความเข้าใจจากเรา เพื่อให้เขามาเล่าให้ฟังว่าแต่ละวันเขาทำอะไรบ้าง เพราะบางทีพ่อแม่อาจใช้คำพูดที่ไม่ถูกกับลูก ทำให้ลูกไม่ไว้ใจและออกนอกลู่นอกทางไป และยังได้นำวิธีเดียวกันนี้มาปรับปรุงกระบวนการสอนนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีการแก้ไขปัญหาในห้องเรียน ผ่านกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้สึกและประสบการณ์ระหว่างครูกับนักเรียนอีกด้วย"
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาจังหวัดระยองให้เป็นพื้นที่นำร่อง ภายใต้โครงการ Rayong EF Happy and Safe City โดยหวังให้เด็กระยองมีค่าเฉลี่ยด้านEF เพิ่มขึ้น สร้าง Change Agent เพื่อพัฒนาทักษะ EF ของชุมชน และมุ่งเน้นไปสู่การปรับใช้หลักการ EF ในการเลี้ยงดูเด็ก เริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย ภายในครอบครัว โรงเรียน หรือแม้แต่ผู้ใกล้ชิดเด็ก ทั้งนี้ยังมีการจัดตั้ง EF Family Center และช่องทางการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ความรู้และจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะในทุก ๆ อำเภออย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อกระตุ้นให้ EF อยู่ในวิถีของคนระยองและเป็นวาระของสังคมไทยต่อไป