กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย
เมื่อยังไม่แน่ใจ จึงยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อน
เราเลื่อนคาดการณ์ที่ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปเป็นไตรมาส 4/59 และคาดว่าในเดือนกันยายน ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม
เมื่อเร็ว ๆนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ที่ออกมา บางส่วนดีกว่าคาด และบางส่วนแย่กว่าคาด สอดคล้องกับท่าทีของธปท.ที่เป็นการ "รอดูสถานการณ์" ไปก่อน ถึงแม้ว่าเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยล่าสุดบ่งชี้ถึงโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ชะลอตัวลง ยกเว้นการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เราได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้ จากร้อยละ 0.7 มาเป็นร้อยละ 0.3
เลื่อนคาดการณ์ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เราเลื่อนคาดการณ์ที่ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปจากเดือนกันยายน เป็นไตรมาส 4 ของปีนี้ เป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นความเสี่ยงขาลงต่อการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆ และคู่ค้าของไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ออกมาทั้งดีและไม่ดี จึงคาดว่าธปท.ไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อน ในรอบการประชุมกนง.วันที่ 14 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ดังนั้น แม้เราคาดว่า ธปท. มีโอกาสที่จะปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจลงเล็กน้อย แต่ถึงกระนั้นอาจจะไม่ได้มากพอที่จะทำให้กนง.เอนเอียงไปในด้านของนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นอย่างชัดเจน
สุนทรพจน์ของผู้ว่าการธปท. ดร. วิระไท สันติประภพ เมื่อเร็ว ๆนี้ ยังสะท้อนถึงทีท่าที่จะรอดูสถานการณ์ไปก่อน และความต้องการที่จะรักษาขีดความสามารถของการดำเนินโยบายไว้ก่อน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าฯ ยังได้ย้ำถึงความกังวลของธปท.ต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงเหล่านี้ยังอยู่ในวงจำกัด
ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เป็นศูนย์
ในรายงานการประชุมคณะกรรมการกนง.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. พบว่า กนง.ไม่ได้กังวลเพียงแค่ปัจจัยความไม่แน่นอนภายนอก แต่ยังเป็นห่วงเรื่องการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ และความแข็งแกร่งของการบริโภคภาคเอกชน และความรวดเร็วของการลงทุนภาครัฐในช่วงต่อไปด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบโตของสินเชื่อของภาคธุรกิจ คำสั่งซื้อและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ขณะเดียวกัน เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภค เช่น การเติบโตของค่าจ้าง และหนี้ครัวเรือน ยังสะท้อนว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังไปอีกระยะหนึ่ง
เราจึงยังคงมองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ช่วงปลายปีนี้ และธปท.ยังมี "พื้นที่" ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อีก ส่วนหนึ่งเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบาย (ร้อยละ 1-4) ช้ากว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ เราได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2559 และ 2560 ลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 2.0 จากเดิมที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาอาหารและพลังงานที่เกินความคาดหมาย และอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ