กรุงเทพฯ--2 ส.ค.-- ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปลื้มบ่อก๊าซจากมูลสัตว์เฟส 1 และ 2 ผลิตก๊าซชีวภาพทดแทน LPG ได้ถึงปีละ 3 แสนถัง ทุ่ม 900 ล้านบาท ขยาย เฟส 3 ตั้งเป้าผลิตก๊าซชีวภาพ จากสุกร 456 ล้านตัว หรือเทียบเท่าก๊าซ LPG 2.5 ล้านถัง ต่อปี
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนการจัดสร้างระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลางและใหญ่ให้กับเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน โดยมีหน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินโครงการ จากการส่งเสริมในระยะที่ 1 และ 2 มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าร่วมจำนวน 22 ฟาร์ม ใน 6 จังหวัด ครอบคลุมสุกรประมาณ 336,000 ตัว ผลิตก๊าซชีวภาพเทียบเท่าก๊าซหุงต้ม(LPG) 3 แสนถังต่อปี โดยเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้นำก๊าซชีวภาพไปใช้ในการกกลูกสุกร และผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม รวมทั้งแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านได้ใช้หุงต้มด้วย นอกจากนี้ยังสามารถบำบัดน้ำเสียได้ปีละ 3 ล้าน ลบ.ม. และได้ปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 13,000 ตัน
"จากความสำเร็จของโครงการส่งเสริมก๊าซชีวภาพฯ ในระยะที่ 1 และ 2 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้วางแผนขยายโครงการเพิ่มขึ้นอีกในระยะที่ 3 เพื่อสนับสนุนให้เจ้าของฟาร์มที่สนใจ นำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพไปใช้ ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานมาใช้ในฟาร์มแล้ว ยังมีผลดีต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เกิดจากน้ำเสีย กลิ่นเหม็น และแมลงวัน รวมทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการบำบัดน้ำเสีย อีกด้วย" ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว
เลขาธิการ สพช. กล่าวต่อว่า ระบบก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ระยะที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ.2544-2551 ได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตก๊าซชีวภาพ เทียบเท่าก๊าซ LPG 2.5 ล้านถังต่อปี หรือเทียบเท่าพลังไฟฟ้า 91 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง บำบัดน้ำเสียได้ปีละ 18 ล้าน ลบ.ม. และได้ปุ๋ยอินทรีย์ 76,000 ตัน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะให้การสนับสนุนแผนงานการส่งเสริมและการลงทุนแก่เกษตรกรฟาร์มปศุสัตว์ เป็นเงิน 900 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของเงินลงทุน รวมทั้ง จะฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาวิจัย จนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีระบบก๊าซชีวภาพให้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 40% ทั้งนี้ เจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่และกลาง สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการก๊าซ ชีวภาพ ตู้ ปณฝ. 289 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50202 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 5394 8196-8 โทรสาร 0 5394 8195
อนึ่ง ขณะนี้ระบบก๊าซชีวภาพ ขนาด 12,000 ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ "วีรชัยฟาร์ม" อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 150 ไร่ และจะสามารถผลิตก๊าซ ชีวภาพ ทดแทน ก๊าซ LPG ได้ 1 แสนถัง/ปี
ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการส่งเสริมก๊าซชีวภาพฯ ในระยะที่ 1 2 และ 3 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ครบทั้งหมด จะครอบคลุมฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่และกลางประมาณ 600 ฟาร์ม นับเป็นตัวสุกรได้ 2.3 ล้านตัว หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสุกร 5 ล้านตัวทั่วประเทศ
สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์หรือน้ำเสียโรงงาน ภายในระยะเวลา 5 ปี นั้น จะเร่งให้มีการนำก๊าซชีวภาพมาผลิตเป็นพลังงานใช้ทดแทน LPG ส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลังและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อสาธิตเทคโนโลยีและนำข้อมูลที่ได้มากำหนดแนวทางการส่งเสริมต่อไป เร่งพัฒนาและสาธิตเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับน้ำเสียชุมชน เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย และเป็นแนวทางใหม่ในการจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน และให้ กฟภ. ผ่อนปรนข้อกำหนดการขายไฟฟ้าเขาระบบ โดยอนุญาตให้ติดตั้งมิเตอร์แบบหมุนกลับและลดค่าอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ในการเชื่อมต่อสายส่งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อจูงใจเจ้าของฟาร์นำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ให้มากขึ้น
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368
121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.th-- จบ--
-อน-