กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
วันนี้ (10 กันยายน 2559) การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงนิวเดลี นำคณะนักธุรกิจยางพาราจากอินเดีย เยือนพื้นที่ปลูกยางในภาคอีสาน นำร่อง จ.บึงกาฬ เปิดบ้านให้การต้อนรับ พร้อมเยี่ยมชมโรงงานยางพาราของบริษัทเอกชน ยืนยัน ประเทศผู้ซื้อยางรายใหญ่อันดับสองของโลก มีความสนใจ และพร้อมที่จะรับซื้อยางไม่ว่าจะภาคไหนของประเทศไทย ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า คณะนักธุรกิจยางพาราจากอินเดีย ให้ความสนใจในการลงพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลูกยางหลักของประเทศรองจากภาคใต้ โดยรวมมีพื้นที่ปลูกยางทั้งสิ้นประมาณ 3.8 ล้านไร่ โดยเฉพาะ จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 6.9 แสนไร่ ดังนั้น การพบปะระหว่างนักธุรกิจอินเดีย และผู้ประกอบการของไทยในวันนี้ จะมีการลงนามร่วมกันระหว่างสองฝ่ายในหนังสือแสดงความเจตน์จำนงในการซื้อยาง (Express of interest) เพราะในประเทศอินเดียยังมีความต้องการใช้ยางในการผลิตไม่น้อยกว่า 1 แสนตันต่อปี
ดร.ธีธัช กล่าวย้ำว่า บทบาทของการยางแห่งประเทศไทย จะเน้นการเปิดตลาดยางใหม่ และไม่ไปแทรกแซงตลาดหรือขายผลผลิตแข่งกับใคร การเชิญนักธุรกิจจากประเทศผู้ซื้ออันดับต้นๆ ของโลก เป็นโอกาสในการสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับวงการยางพาราไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถได้ขายของมากขึ้น เพราะนักธุรกิจกลุ่มนี้มีกำลังการซื้อจำนวนมาก เช่น บริษัท MRF มีกำลังการซื้อประมาณ 1 แสนตันต่อปี เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจต่างชาติ คือ ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจากผลการแลกเปลี่ยนในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา สิ่งที่นักธุรกิจให้ความคิด คือ คุณภาพของยางไทยเคยเป็นยางที่มีคุณภาพสูง ช่วงหลังจะเห็นว่าถูกแซงโดยยางของเวียดนาม จะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของยางไทยต่อไป ซึ่งจะต้องร่วมมือกับทุกๆ ฝ่ายทั้งเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการในการพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณภาพยางพาราไทย
"นอกจากนี้ หลังจากเกิดกระแสปัญหากรดซัลฟิวริกในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาของพื้นที่ภาคอีสาน กิจกรรมนี้ นับว่าจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และย้ำเตือนว่า ประเทศผู้ซื้อยางรายใหญ่อันดับสองของโลก มีความสนใจ และพร้อมที่จะรับซื้อยางไม่ว่าจะภาคไหนของประเทศไทย ซึ่งแสดงว่า เราต้องสร้างความเชื่อมั่น และผลิตยางได้คุณภาพมาตรฐานตามที่เขาต้องการ เพราะกลุ่มนักธุรกิจที่มาทั้งสองกลุ่ม คือ ผลิตภัณท์อุตสาหกรรมล้อยาง และอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ล้อยาง เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น ซึ่งบางส่วนก็ยังต้องการยางแท่ง STR บางส่วนก็ต้องการยางลูกขุน และยางแผ่นรมควัน เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการไทย และศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถที่จะจับคู่ธุรกิจได้ และ กยท. จะปรับบทบาทมาเป็นหน่วยงานที่จะสามารถรับรองคุณภาพของยางจากเกษตรกร เพื่อให้เป็นที่เชื่อมั่นของผู้ซื้อได้ว่า ยางเหล่านี้เมื่อผ่านการรวบรวมจาก กยท. แล้วมีมาตรฐาน สามารถส่งมอบ และลงนามในหนังสือแสดงความสนใจในการซื้อยางต่อไป" ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย
นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อัครราชฑูต สถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงนิวเดลี กล่าวว่า สถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงนิวเดลี ได้นำตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจยางพาราอินเดียมาเยือนไทย ประกอบด้วย บริษัทที่อยู่ในกลุ่มสมาคมผู้ผลิตยางล้อในประเทศอินเดีย (Automotive Tyre Manufacturers Association-ATMA)และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอินเดีย (All India Rubber Industries Association-AIRIA) เพื่อจัดให้มีกิจกรรมพบปะกับผู้ขายและผู้ประกอบการธุรกิจยางพาราของไทย รวมทั้งการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของธุรกิจยางพาราไทย มีวัตถุประสงค์หลักคือการจับคู่ทางธุรกิจและส่งเสริมการส่งออกยางพาราไทยในรูปแบบต่างๆ เข้าสู่ตลาดอินเดีย เพราะปัจจุบันอินเดียมีความต้องการนำเข้ายางธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยางพารา เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ยางในด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า การมาเยือนของอินเดียในครั้งนี้ ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำคณะไปเยือนประเทศอินเดีย เพื่อเจรจาทางการค้าระหว่างไทย-อินเดีย ซึ่งมีประเด็นสินค้าเกษตรเรื่องยางพาราด้วย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทางคณะเอกอัครฑูตไทยประจำนิวเดลีได้ทำงานต่อเนื่อง และสามารถเชิญนักธุรกิจชาวอินเดีย 9 ท่าน จาก 9 บริษัท เดินทางมาด้วย จังหวัดบึงกาฬ ชาวจังหวัดบึงกาฬต่างให้การต้อนรับเสมือนเป็นมิตร เป็นพี่น้องกัน สร้างความประทับใจให้คณะชาวอินเดียตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึง นับว่าเป็นมิตรภาพที่ดีและมีโอกาสได้สานความสัมพันธ์ระหว่างกัน จากการนำคณะไปชมโรงงานของผู้ประกอบการยางในจังหวัดบึงกาฬ มีทั้งเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรร่วมดูงานด้วย ทำให้การตอบรับจากนักธุรกิจ มีความมั่นใจมากๆ ต่อคุณภาพยางของจังหวัดบึงกาฬ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ก้าวสำคัญที่คณะชาวอินเดียซึ่งเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ ทั้งบริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่อันดับ 1 2 และ 3 ของประเทศอินเดีย จะพิจารณาและตัดสินใจเดินทางมาเพื่อซื้อยางที่ จ.บึงกาฬต่อไป ในวันนี้ ความสำเร็จขั้นต้น ทางบริษัท Chowdhry Rubber & Chemical Pvt.Ltd. นำโดย Mr.Deepak Chaddha ประธานกรรมการบริษัท ได้ลงนามในหนังสือแสดงความเจตน์จำนงการซื้อยางกับหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และการยางแห่งประเทศไทย คาดว่าจะซื้อยางประมาณ 1 แสนตัน และจะเร่งร่วมมือกันประสานงานต่อไปให้เป็นรูปธรรม
ก้าวต่อไปที่สำคัญ คือ เราต้องแปรรูปวัตถุดิบยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนในเรื่องนวัตกรรม 4.0 จะเน้นการแปรรูป และสร้างความร่วมมือกับประเทศจีน อินเดีย และนานาชาติ รวมทั้ง ขณะนี้กำลังพยายามเชื่อมต่อกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่ม SMEs รายย่อย รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี และที่สำคัญ ต้องขอชื่นชมการยางแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เอาการเอางาน มีการให้ความช่วยเหลือโดยพร้อมเพรียงอย่างมาก ดร.พินิจ กล่าวทิ้งท้าย
นายธราดล ทองเรือง อัครราชฑูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) เผยว่า ปัจจุบัน มีเส้นทางการคมนาคมขนส่งสินค้าอย่างผลไม้จากไทยไปอินเดีย และอนาคตจะส่งยางพารา ผ่านถนนที่เชื่อมต่อจากประเทศไทยไปอินเดีย โดยผ่านเส้นทาง ลาว จีน และถึงประเทศอินเดีย ณ รัฐมณีปุระ เป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งยางพารา คาดว่า ยางพาราไทยในภาคอีสาน จะเติบโตได้ไกล เพราะงานครั้งนี้ เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไทยจะได้คู่ค้ารายใหม่ เพิ่มทางเลือกมากขึ้น ยกตัวอย่าง ธุรกิจรถยนต์ใหญ่เป็น 5 เท่า 10 เท่าของเมืองไทย และธุรกิจยางรถยนต์ใช้ยางดิบเป็นส่วนประกอบในเปอร์เซ็นต์ที่สูง นอกจากอินเดียใช้ยางในการผลิตยางรถยนต์แล้ว ยังใช้พวกถุงมือยาง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราต่างๆ มากมาย เพราะอินเดียมีประชากรสูงถึงประมาณ 1,200 ล้านคน เทียบเท่ากับจีน ถ้าจีนบริโภคยางเท่าไหร่ก็คิดว่าอินเดียก็ใช้บริโภคในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ทั้งขนาดประเทศและสัดส่วนประชากรใกล้เคียงกัน
นายประชา ทรัพย์พิพัฒนา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง จำกัด กล่าวว่า การมาร่วมเวทีเจรจาผู้ซื้อพบผู้ขายระหว่างประเทศไทยและคณะนักธุรกิจจากประเทศอินเดีย โดยมีการยางแห่งประเทศไทย และสถานฑูตไทยประจำกรุงนิวเดลีเป็นองค์กรหลักในการประสานงานครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับสถาบันเกษตรกรยกระดับจากการดำเนินธุรกิจต้นน้ำ เป็นการพัฒนาสถาบันสู่กลางน้ำ ด้วยการแปรรูปผลผลิตของตัวเองให้มีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน สหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง ได้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเป็นหลัก จะอยู่ในรูปของยางแผ่นดิบ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นอัดก้อนส่งตลาดต่างประเทศ เช่น จีน และไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 1,200 ตัน รวมทั้ง ยังมีการส่งขายภายในประเทศ โดยโรงงานจะรับซื้อไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในส่วนประกอบของรถยนต์อย่างมาสด้า หรือฟอร์ด
นายประชา กล่าวเพิ่มเติม ตลาดยังคงมีความต้องการใช้ยางอย่างต่อเนื่อง สหกรณ์กองทุนฯ บ่อทอง จึงได้มีการขยายกิจการ โดยการสร้างโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นยางแท่ง STR 20 คาดว่าจะรับซื้อยางก้อนถ้วยในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก โดยกำลังการผลิตของโรงงานขั้นต่ำประมาณ 3,000 ตันต่อเดือน เป้าหมายการเปิดตลาดใหม่ครั้งนี้ เน้นการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เพื่อนเกษตรกรชาวสวนยางด้วยกัน แต่จะไม่มีการผูกขาด เพราะหากที่ไหนรับซื้อยางก้อนถ้วยในราคาสูง แต่ละสหกรณ์หรือกลุ่มสถาบันเกษตรกรสามารถขายผลผลิตของตัวเองได้ตามความต้องการ ล่าสุดทางสหกรณ์กองทุนฯ บ่อทอง จำกัด ได้มีการตกลงกับสหกรณ์กองทุนฯ หนองหัวช้าง จำกัด เพื่อรับซื้อผลผลิตยางก้อนถ้วยในการแปรรูปยางแท่ง STR 20 เรียบร้อยแล้ว และคาดว่า ในช่วงกลางเดือนกันยายนเป็นต้นไป จะร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย จ.บึงกาฬ เชิญผู้นำเกษตรกรของแต่ละพื้นที่ในจ.บึงกาฬ และในพื้นที่ภาคอีสานใกล้เคียงมาหารือร่วมกันในการรวบรวมผลผลิตยางก้อนถ้วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเมื่อได้มีโอกาสมีพบปะพูดคุยกับคณะนักธุรกิจสมาคมผู้ผลิตยางล้อในประเทศอินเดีย จะเป็นการเปิดโอกาสในการขยายหรือพัฒนาธุรกิจของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไทยต่อไป