กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โชว์ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่พร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากมะขามป้อม ผลิตภัณฑ์ใยอาหารที่ละลายน้ำจากผักและผลไม้ เครื่องดื่มเกลือแร่จากสารสกัดมะขาม และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากถั่วชิกพี ในงานมหกรรมไทยแลนด์เทคโชว์ 2016 "Thailand Tech Show 2016" ซึ่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรกว่า 30 หน่วยงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2559 ณ เพลนารี ฮอลล์ 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีกลางนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ให้ผู้ประกอบการและนักลงทุน ได้จับคู่ธุรกิจและร่วมลงทุนต่อยอดจาก "ผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริง" นำไปผลิตและขายในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่ร่วมลงทุนต่อยอดงานวิจัยในงานนี้ ยังรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดถึง 300 เปอร์เซ็นต์ ตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "New S Curve กับการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0" ในโอกาสนี้ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดงานดังกล่าวด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ถูกจัดเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ได้ขยายบทบาทตัวเองจากเดิมเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยการทำวิจัยและพัฒนา มาทำหน้าที่ในการเป็นข้อต่อเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมผลักดันมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำวิจัยและนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น มาตรการยกเว้นภาษีค่าใช้จ่ายงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม 300% มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับ Startups และ Venture Capital มาตรการบัญชีนวัตกรรมไทย การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นต้น
"การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รัฐบาลได้มีแนวคิดการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจากการผลิตในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้แรงงานและเครื่องจักรเข้มข้น ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ "ประเทศไทย 4.0" กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กำหนดขีดความสามารถพื้นฐานของประเทศไทยและความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง"ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าว