กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--อพวช.
กระแสตอบรับล้นหลามกับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่ผู้เข้าสนใจเข้าร่วมโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ปี 2 ในหัวข้อ เทคโนโลยีชีวภาพเปลี่ยนโลก เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2559 ณ คอนเวนชั่นฮอล์ 1 อาคาร D ชั้น 2 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 250 คน จากทั่วประเทศ คลอบคลุมทั้งกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมและประชาชนทั่วไป อาทิ โรงเรียนนารีรัตน์ จ.แพร่ โรงเรียนบรบือวิทยาคาร จ. มหาสารคาม โรงเรียนวิสุทธรังษี จ.กาญจนบุรี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนานาชาติ Stamford เป็นต้น
ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ กูรูด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มาแนะนำเคล็ดลับและแนวทางการทำภาพยนตร์สั้นให้ง่ายและมัดใจคนดู สนุก มีพลัง ลงลึก แนวคิดและหลักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ถามว่าทำไมต้องมี นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ต้องมีการเปรียบเทียบด้วยสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายๆ และทำให้เป็นเรื่องสนุก การสื่อสารผ่านภาพยนตร์ก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์สนุก น่าสนใจ ปัจจุบันนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีประมาณ 100-200 เท่านั้นเอง "
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ "คุณชายอดัม" ผู้กำกับชื่อดัง มาให้ความรู้เรื่องการจัดแสง จัดเสียง การคิดและสร้างภาพยนตร์ผ่านประเด็นวิทยาศาสตร์ ทำอย่างไรกับการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ในแบบของภาพยนตร์ กล่าวว่า "หนังสั้น คำจำกัดความคือ หนังที่ไม่ยาว หนังสั้นวิทยาศาสตร์ ก็คือ หนังที่เล่าเรื่องเฉพาะเจาะจงไปทางวิทยาศาสตร์ หรือจินตนาการที่เกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์ วิธีการดำเนินเรื่องไม่ได้ต่างกัน สิ่งสำคัญคือการทำหนังให้สนุก น่าติดตาม และผู้ชมสามารถรับสารที่เราต้องการเสนอได้ มีความอิ่มเอมในอารมณ์ หมายถึงอารมณ์โกรธ อารมณ์รัก ตลก ตามที่คนทำหนังต้องการสื่อสารครับ"
น.ส. ศรุดา บริสุทธิ์ (น้องชมพู่) ม. 4 ตัวแทนทีมจาก โรงเรียนนารีรัตน์ จ.แพร่ กล่าวว่า "วันนี้ได้ความรู้เยอะแยะเลยค่ะ สิ่งที่ได้ก็คือ จะสร้างหนังสั้นให้คนดูแล้วรู้ว่าเราส่งสารอะไรออกไปค่ะ อุปสรรคของทีมก็คือเรื่องเวลา เวลาไม่ตรงกัน ทำให้ทำงานไม่ได้ เช่น ตากล้องไม่มาก็ทำงานไม่ได้แล้ว" นายณิทิต พงษ์เจริญ ( บิ๊กบอส) ม.4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า "สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสื่อสารออกไปให้คนเข้าใจได้ง่าย เพราะว่าต่อให้ไอเดียคุณสุดยอด แต่ว่าสื่อสารออกมาไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ครับ"
นายศิวกร ดวงมุลลี ม. 4 ตัวแทนทีมจากโรงเรียนบรบือวิทยาคาร จ. มหาสารคาม กล่าวว่า "มีแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่บวชแล้วพอสึกออกมาผมไม่ขึ้น เราก็เลยคิดว่าจะหาวิธีการทำให้ผมขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ แนวๆ นี้นะครับ แต่จะทำเป็นหนังวิทยาศาสตร์ พล็อตเรื่องยากสุดครับ เพราะต้องคิดหลายอย่าง เคยทำหนังสั้นมาบ้างแล้วครับ แต่หนังสั้นวิทยาศาสตร์ท้าทายกว่า มาที่นี่ได้ความรู้มาก และได้นำเอาไปใช้ในงานหนังสั้นแน่นอน" นายนรวิชญ์ สัจจเทพ ม. 4 ตัวแทนทีมโรงเรียนวิสุทธรังสี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า "เราต้องอ้างอิงกฏของวิทยาศาสตร์มาเข้ากับหนัง ยากตรงนี้ มีหัวข้อ มีกรอบ ส่วนหนังสั้นทั่วไป ไม่ต้องมีกรอบ เราอยากเล่าอะไรก็เล่าไป เราต้องดูว่าวิทยาศาสตร์มีกฏอะไร เล่าอย่างไรให้คนดูสนใจ มาดูหนังเรามากขึ้นครับ" น.ส. ปริธิดา ทองกลิ่น (มิ้น) ปี2 ตัวแทนทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ กล่าวว่า "เป็นการปลุกความสร้างสรรค์ มากกว่าการทำหนังสั้นทั่วไป เพราะต้องสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย มาวันนี้ได้เยอะมาก เพราะที่เคยประกวดที่มหาวิทยาลัย ยังไม่ปลุกตัวเองเท่าไร พอมาที่นี่ ได้ความรู้มากกว่าเยอะมาก" คุณกิตติวรรณ จันทร จาก จ.ภุเก็ต ในนามประชาชนทั่วไป กล่าวว่า "อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหนังเท่านั้นเอง เป็นเรื่องจริงที่ประสบมา ถ้าเราให้ใครฟัง เขาก็คงจะขำ ให้ผ่านหนังดีกว่า ยาก แต่ก็อยากทำ ไม่เคยเรียน ไม่เคยศึกษา มาที่นี่เลย มีเรื่องอยากสื่อ แต่ไม่รู้จะผ่านหนังอย่างไร จึงมาที่นี่ ได้เทคนิค ได้รู้วิธีการทำ คาดหวังเพียงแค่ได้มีโอกาสนำเสนอสิ่งที่พบเห็นผ่านหนังสั้นค่ะ"
เต็มอิ่ม 2 วันกับความรู้ที่ครบขั้นตอนกระบวนการทำหนังสั้นแนววิทยาศาสตร์ บรรดาคอหนังสั้นที่อยากประลองฝีมือ เตรียมลุยเต็มที่...ก่อนหมดเขตส่งผลงาน 30 กันยายน 2559 นี้