กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิดโดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ย. 59 ลดลง 14.5 ล้านบาร์เรล ลดลงรายสัปดาห์มากสุดในรอบ 18 ปี มาอยู่ที่ 511.4 ล้านบาร์เรล
· หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 7.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 420,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 5.7% ซึ่งเป็นอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน
· ความเป็นไปได้ในการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันดิบร่วมกันของกลุ่มประเทศใน OPEC กับ Non-OPEC เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้น หลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซียและซาอุฯ นาย Alexander Novak และนาย Khalid al-Falih ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านตลาดน้ำมัน ในการเจรจานอกรอบระหว่างการประชุม G-20 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· National Iranian Oil Company (NIOC) คาดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกที่ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับเดิมก่อนถูกคว่ำบาตร
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7 Rig มาอยู่ที่ 414 Rig
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 42,847 สัญญา มาอยู่ที่ 177,537 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา ลดลงเกือบ 2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ชดเชยจากวันพฤหัสบดีที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากความตื่นตระหนกของนักลงทุน เมื่อปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ลดลงมากสุดในรอบ 18 ปี แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่าเป็นเพราะการนำเข้าน้ำมันดิบต้องชะลอออกไปเนื่องจากพายุโซนร้อน Hermine ที่พัดผ่านรัฐ Texas และ Louisiana เป็นอุปสรรคในการสูบถ่ายน้ำมันดิบลงจากเรือ ก่อความกังวลใหม่ว่าปริมาณสำรองน้ำมันดิบสัปดาห์ถัดมาจะเพิ่มขึ้นรุนแรงจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่เลื่อนมา นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังสองสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผู้มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) แสดงทัศนะถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน การประชุม FOMC วันที่ 20-21ก.ย. 59 แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า FOMC จะมีมติคงดอกเบี้ยเช่นเดิมไปก่อน แต่การให้ข่าวและรายงานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์นี้จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แกว่งตัว ในลักษณะเดียวกันกับการให้ข่าวของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ถึงโอกาสในการร่วมมือคงปริมาณการผลิต ก่อนหน้าการประชุมที่จะจัดขึ้นที่ระหว่างงานสัมมนา International Energy Forum เมืองแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรียในวันที่ 26-28 ก.ย. 59 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบผันผวน ทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะอยู่ในช่วง 45.5-50.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , NYMEX WTI อยู่ระหว่าง 43.5-48.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 42.0-47.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงาน Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียมีแผนออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ส่งมอบเดือน ก.ย. 59 ปริมาณรวม 1.3 ล้านบาร์เรล เพิ่มเติมจากที่ซื้อแล้ว 1.1 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้อุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดฤดูฝน เดือน ก.ย.นี้ และโรงกลั่นน้ำมัน Reduc (กำลังการกลั่น 242,000 บาร์เรลต่อวัน) ในบราซิลของ บริษัท Petroleo Brasileiro SA. (Petrobras) หยุดดำเนินการ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.59 จากระบบไฟฟ้าขัดข้องและเพลิงไหม้ อย่างไรก็ตามเวียดนามมีแนวโน้มจะนำเข้าน้ำมันเบนซินลดลง เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามลดภาษีน้ำมันเบนซินที่ผลิตในประเทศลงจากเดิม 20 % มาอยู่ที่ 10 % จนถึงสิ้นปีนี้ และจะยกเลิกการเก็บภาษี 1 ม.ค. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล หรือ 0.7 % อยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.74 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.0-60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น จากผู้ค้าน้ำมันคาด National Iranian Oil Co. (NIOC) ของอิหร่านลดปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ก.ย.-ต.ค. 59 จากการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งโรงกลั่นหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง อาทิ โรงกลั่น Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. ในอินเดีย (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท ONGC มีแผนซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit หรือ CUD ขนาด 100,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ก.ย. 59 และ PAJรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล หรือ 1.8 % อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม CPC Corp. ของไต้หวัน จะเริ่มดำเนินการหน่วย RFCC (80 KBD) ที่โรงกลั่น Talin(กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงกลางเดือน ก.ย. 59 หลังหยุดดำเนินการเพราะปัญหาทางเทคนิคตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. 59 และ Indian Oil Corp. (IOC) ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล ปริมาณ 335,000 บาร์เรล ส่งมอบปลายเดือน ก.ย. 59 อีกทั้งIES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 590,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.0-58.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล