บ้านปูเสริมกำลัง ไล่ซื้อหุ้นเอสพีพี

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2001 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรมประชาสัมพันธ์
บ้านปู เปิดยุทธศาสตร์ ดึงกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นของตัวเองให้ได้กว่า 10% ของตลาดเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัท โดยเจรจาไล่ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่ขาดสภาพคล่อง 2 ราย พร้อมนำธุรกิจถ่านหินเป็นหัวหอกรุกตลาดต่างประเทศ ชี้ตลาดยังเปิดกว้างเตรียมเม็ดเงิน 1,200 ล้าน ประมูลเหมืองถ่านหินในอินโด- นีเซียภายในเดือนนี้ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางการดำเนินงานของบริษัทว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเป็นการเพิ่มผลประโยชน์กลับมาให้กับบริษัทมากที่สุด บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานในส่วนการขยายงานช่วงต่อจากนี้ไปว่า จะต้องเพิ่มสัดส่วน กำลังผลิตไฟฟ้าให้เข้าไปอยู่ในระบบไฟฟ้าให้ได้อย่างต่ำประมาณ 10% ขึ้นไปของตลาดการใช้ไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งเรามีเป้าหมายกำลังผลิตไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก แต่เน้นผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมาสู่บริษัทให้มากที่สุด โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เข้าไปร่วมถือหุ้นกับโรงไฟฟ้าต่างๆ กว่า 1,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 16,000 เม-กะวัตต์
สำหรับการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตให้มากขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากการเข้าไปซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กหรือเอสพีพี ที่เป็นของเอกชนและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการ 2 ราย โครงการหนึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และอีกโครงการเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ การที่บริษัทเลือกดำเนินการวิธีนี้ เนื่องจากเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะเข้า ไปใช้ประสบการณ์และความชำนาญที่มีอยู่เข้าไปช่วยเหลือซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
ขณะที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ บริษัทจะไม่เข้าไปลงทุน ยกเว้นการลงทุนในบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นอยู่ 50% ร่วมกับบริษัท China Light ถือหุ้น 50% ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะเริ่มลงมือก่อสร้างในอีก 2 ปีครึ่งข้างหน้า
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนโครงการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี และขั้นตอนต่างๆ ว่า จะต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงการขอใบอนุญาตการก่อสร้างต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการมีความล่าช้าเกิดขึ้นมาก ประกอบกับบ้านปูมีแนวคิดที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทบีแอลซีพีฯ ลงเหลือประมาณ 25-35% เพื่อไม่ให้บริษัทรับภา-ระถือหุ้นที่มากเกินไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมทุนต่างชาติที่แข็งแรง เข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกราย โดยคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2549
นายชนินท์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทพร้อมที่จะเปิดธุรกิจถ่านหินไปสู่ต่างประเทศให้มากขึ้น หลังจากที่ได้เข้าไปดำเนินการผลิตถ่านหินจากแหล่งโจร่ง กำลังการผลิต 3 ล้านตันต่อปี ในอินโดนีเซียมา 2 ปี โดยมีแผนที่จะเข้าไปพัฒนา เหมืองถ่านหินของอินโดนีเซียอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย เหมืองถ่านหินที่อยู่บนเกาะสุมาตรา ซึ่งโครงการนี้ทางบริษัทได้รับการสัมปทานจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นระยะ 30 ปี เรียบร้อยแล้ว และได้ทำการสำรวจปริมาณถ่านหินพบว่ามีปริมาณ สำรองประมาณ 20 ล้านตัน ที่สามารถผลิตขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพค่อนข้างดี ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่ำเพียง 0.75% ค่าความร้อน 6,000 กิโลแค-ลอรีขึ้นไป เทียบกับถ่านหินที่แม่เมาะแล้วมีเพียง 2,500-3,000 กิโลแคลอรี เท่านั้น ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้นับจากนี้ไปอีก 2 ปี
ส่วนอีกโครงการที่จะเข้าไปลงทุน จะเป็นการเข้าไปร่วมประมูลแหล่งถ่านหินที่มีการผลิตอยู่แล้ว ในรัฐกาลิมันตัน ของอินโดนีเซีย
สำหรับเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการ ขณะนี้กำลังดูว่าจะต้องใช้งบเท่าใด แต่แผนเดิมที่ตั้งไว้บริษัทได้เตรียมเงินไว้แล้วประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้พัฒนาเหมืองถ่านหินที่เกาะสุมาตรา แต่ขณะนี้มีความคิดว่า หากจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง บริษัทจึงมีแนวคิดว่าน่าจะจ้างผู้รับเหมามาดำเนินโครงการนี้แทนเพื่อช่วยประหยัดงบลงทุนได้ส่วนหนึ่ง ที่คาดว่าใช้เงินไม่สูงมากนัก และนำเงินจำนวนดังกล่าวมาลงทุนในส่วนของการประมูลแหล่งถ่านหินในรัฐกาลิมันตันแทน ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 1,200 ล้านบาท
โดยส่วนเงินที่เพิ่มมาจำนวน 400 ล้านบาท นี้ส่วนหนึ่งจะนำมาจากการออกหุ้นกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัติจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินที่ได้จากการขายหุ้นในบริษัทเดอะโคเจเนอเรชั่นฯ หรือโคโค่ ไปครั้งก่อน ได้วงเงินมา 2,500 ล้านบาท
นายชนินท์กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับการยื่นประมูลแหล่งถ่านหินครั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจว่าจะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการที่ลงทุนทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียมีจำนวน 9 ราย รวมกำลังการผลิตกว่า 80-90% ที่มีการผลิตถ่านหินในอินโด-นีเซีย และบ้านปูถือว่าอยู่ 1 ใน 9 รายนี้ โดยบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมรายละเอียดยื่นเสนอจากเดิมจะประกาศยื่นรับซองในวันที่ 26 ก.พ. 2544 นี้ แต่คาดว่าน่าจะมีการเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก
"ตลาดในแถบภูมิภาคเอเชีย ยังมีความต้องการถ่านหินอีกมาก ปีที่ผ่านมามีการเติบโตร้อยละ 9 และจากที่สถาบันการพลังงานต่างๆ ประเมินแล้วคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตเป็น 10% ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เพิ่มสูงมาก" โดยปัจจุบัน บริษัทจำหน่ายถ่านหินจากแหล่งโจร่ง ไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนที่จำหน่ายประมาณ 70% ของกำลังผลิต ส่วนที่เหลือส่งกลับมาจำหน่ายยังประเทศไทย ขณะที่การผลิตถ่านหินจากแหล่งในประเทศ ได้จัดส่งให้ลูกค้าประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการใช้ในภาคเอกชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการขายถ่านหินโดยรวมทั้งสิ้น 2,009 ล้านบาท--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ