NIDA Poll แนวทางแก้ไขปัญหายาบ้า

ข่าวทั่วไป Tuesday September 13, 2016 09:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "แนวทางแก้ไขปัญหายาบ้า" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6 – 7 กันยายน 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหายาบ้า และแนวคิดการให้ยาเสพติดบางชนิด ถูกนำมาใช้โดยถูกกฎหมาย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงโทษผู้เสพยาบ้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.36 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ควรได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกและต้องเข้ารับการบำบัดรักษา เพราะ เป็นการให้โอกาสกับผู้เสพ ได้กลับตัวกลับใจ ในขณะเดียวกันก็ควรถูกลงโทษตามกฎหมายด้วย และภายในเรือนจำก็จะได้รับการฝึกทักษะการประกอบอาชีพต่าง ๆ และการบำบัดเป็นการรักษาเพื่อให้หายจากการติดยาเสพติด ไม่กลับไปเสพยาอีก และกลับออกมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง อาจไม่ได้ผล ต้องใช้การลงโทษทางกฎหมายและการบำบัดควบคู่กันไป รองลงมา ร้อยละ 25.76 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ไม่ควรถูกจำคุกแต่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในศูนย์บำบัดฯ ของทางราชการ เพราะ ควรให้โอกาสแก่ผู้ที่ติดยาเสพติดถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องการได้รับการรักษา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เมื่อได้รับการบำบัดแล้วอาจจะมีโอกาสหายขาดได้ บางครั้งผู้เสพอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากการถูกบังคับให้เสพยา การจำคุกไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร กลายเป็นคนมีประวัติที่ไม่ดี และภายในเรือนจำก็มีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ส่วนผู้ขาย สมควรได้รับการลงโทษจำคุกมากกว่าผู้เสพ ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ผู้เสพยาบ้า ควรได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกเท่านั้น เพราะ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภท ทั้งผู้เสพและผู้ขายควรได้รับโทษตามกฎหมาย ควรถูกจำคุกเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบ จะได้ไม่ออกมาเป็นภัยแก่สังคม เพราะหากได้รับการบำบัดหรือปล่อยตัวออกมาก็อาจจะหันกลับไปเสพหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมอีก ซึ่งคนที่เสพสามารถแยกแยะได้แล้วว่าควรทำหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องได้รับการจำคุกเท่านั้น ร้อยละ 4.64 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดยาของแต่ละบุคคล ขณะที่บางส่วนระบุว่าควรได้รับโทษประหารชีวิต และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความยินยอมของผู้เสพยาบ้าที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาด้วยความสมัครใจ หากกฎหมายระบุว่าผู้เสพยาบ้าเป็นผู้ป่วย และต้องเข้ารับการบำบัดรักษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.68 ระบุว่า ไม่มีความมั่นใจเลย รองลงมา ร้อยละ 32.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ร้อยละ 14.56 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจ ในขณะที่ร้อยละ 10.56 ระบุว่า มีความมั่นใจมาก และร้อยละ 8.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละบุคคล สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวนผู้เสพยาบ้าในประเทศไทย ถ้ายาบ้ามีราคาลดลง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.28 ระบุว่า จำนวนผู้เสพยาบ้าจะเพิ่มขึ้น เพราะ เมื่อยาบ้ามีราคาถูกลง จะทำให้หาซื้อได้ง่ายมากขึ้น และโดยเฉพาะเด็ก หรือเยาวชนหรือคนที่อยากรู้อยากลอง คนที่เสพ มีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยาบ้านับว่ามีราคาสูง ก็ยังมีคนเสพมากขนาดนี้ การลดราคาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สุดท้ายเป็นการส่งเสริมให้คนเสพมากยิ่งขึ้น รองลงมา ร้อยละ 13.68 ระบุว่า จำนวนผู้เสพยาบ้าจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ ไม่ว่ายาบ้าจะมีราคาเท่าไหร่ จะถูกลง หรือยิ่งมีราคาแพงมาก คนก็จะยังหาซื้อมาเสพเหมือนเดิม ร้อยละ 5.36 ระบุว่า จำนวนผู้เสพยาบ้าจะลดลง เพราะ ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดลดราคายาบ้าลงมา เพื่อให้คนเลิกเสพ เมื่อยาบ้ามีราคาถูกลง ในทางจิตวิทยาคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าสิ่งของที่มีราคาถูกจะเป็นสิ่งของที่ไร้ค่าหรือไม่มีคุณภาพ เมื่อราคาถูก จำนวนผู้ขายก็จะลดลง ผู้เสพก็จะลดลง จนเลิกการผลิตไป ร้อยละ 1.68 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ จำนวนผู้เสพไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา ควรแก้ไขที่การปราบปรามผู้ผลิตและการบังคับการใช้กฎหมาย และร้อยละ 4.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดการให้ยาเสพติดบางชนิดถูกนำมาใช้โดยถูกกฎหมาย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการให้ยาเสพติดทุกชนิดถูกนำมาใช้โดยถูกกฎหมายได้ รองลงมา ร้อยละ 38.48 ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนใบกระท่อมให้เป็นยา ร้อยละ 38.16 ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนกัญชาให้เป็นยาสมุนไพรและอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ ร้อยละ 15.60 ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยน ยาบ้าให้เป็นสารเสพติดที่อนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เพราะสารเสพติดแต่ละอย่างต่างมีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดปริมาณการใช้ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.64 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.32 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 52.24 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.76 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 4.32 มีอายุ 18- 25 ปี ร้อยละ 13.04 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.56 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 38.56 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.56 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 91.76 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.08 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 17.52 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 74.96 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.16 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 31.60 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.40 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.52 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 20.24 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.16 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.08 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 9.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.92 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.68 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 18.32 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.92 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.48 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.84 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.84 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.92 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.44 ไม่ระบุรายได้
แท็ก ยาบ้า   นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ