กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพลคำถามพ่วง กับ ความสับสนและความกังวลของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,559 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุ คำถามพ่วงประชามติ รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่อง สำคัญ ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เมื่อถามถึง ความสับสนของสาธารณชน ต่อประเด็นข่าวที่ถกเถียงกันเรื่อง คำถามพ่วง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 รู้สึกสับสน ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ไม่สับสน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงความกังวลต่อความขัดแย้งของคนในชาติต่อประเด็นคำถามพ่วง พบว่า ความกังวลของสาธารณชน เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 64.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอแนะต่อปรากฎการณ์คำถามพ่วง พบว่า ร้อยละ 54.9 ระบุให้ผู้เกี่ยวข้องไปตกลงกันให้เรียบร้อยแล้วกลับออกมานำเสนอประชาชนเลือก ร้อยละ 48.3 ระบุอยากฟังข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ทางแก้ปัญหาปากท้อง โรคระบาด ภัยพิบัติ น้ำท่วม และผลงานรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 41.7 ระบุ ควรมีผู้มีบารมีหาทางออกที่ทุกฝ่ายในกลุ่มนั้นๆ ให้การยอมรับ ร้อยละ 38.8 ระบุไม่ควรเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง เพราะเป็นผู้เข้ามาด้วยวิธีพิเศษบนความคาดหวังให้มาเป็นต้นแบบปรองดองคนในชาติ ร้อยละ 32.6 ไม่ควรออกมาจุดชนวนทะเลาะกันกับการเมืองกลุ่มต่างๆ คนจะหมดศรัทธากับทางเลือกปัจจุบัน และร้อยละ 10.7 ระบุอื่นๆ เช่น เห็นต่างได้แต่อย่าแตกแยก ไม่ควรใช้ถ้อยคำขัดแย้ง ยั่วยุรุนแรง มุ่งทำงานไปตามแผนที่ในโรดแมป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึง ความหวังที่จะก้าวต่อไป กับ ความมกลัวที่จะก้าวต่อ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 มีความหวังที่จะก้าวต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 31.2 มีความกลัวที่จะก้าวต่อ
ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ภาพขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติยังคงตามหลอกหลอนประชาชนอยู่ตลอดเวลา เป็นภาพที่เคยทำให้สาธารณชนรู้สึกว่ามีสัญญาณรบกวน กระทบชีวิตประจำวันของประชาชนให้เดือดร้อน แต่วันนี้กำลังเริ่มมีกระแส "เบื่อ" ภาพความไม่ลงรอยของคนฝ่ายเดียวกัน ทั้งสับสนและกังวล จึงน่าจะหาทางยุติโดยเร็วบนหลักการที่ว่า ทำให้จบข้างในแล้วออกมาให้ประชาชนเลือก เห็นต่างแต่ไม่รุนแรง ไม่ต้องให้เกิดความยืดเยื้อออกไปจากประเด็นขัดแย้ง ทำให้ "จบเร็ว" เพราะหากยืดเยื้อจนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งบานปลายแล้ว ชาวบ้านอาจจะมองว่าคนช่วยชาติยุคนี้จะไม่ต่างกับภาพของนักการเมืองที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมเสียเอง