กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--เบอร์ลี่ ยุคเกอร์
นักลงทุนและสถาบันการเงินเชื่อมั่นในบีเจซี ผู้ประกอบธุรกิจครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ ออกหุ้นกู้ยอดจำหน่ายสูงสุดในประวัติการออกหุ้นกู้ในประเทศไทย
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า จากการที่บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้เข้าซื้อกิจการ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 บริษัทได้มีการรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการดังกล่สวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นของ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และได้มีการทำ Tender offer หุ้นบิ๊กซี ทำให้บริษัทได้ถือหุ้นบิ๊กซีร้อยละ 97.94 โดยในการเข้าซื้อกิจการ บริษัทได้ใช้เงินกู้ระยะสั้นสกุลเงินยูโรและสกุลเงินบาทเป็นแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในในการเพิ่มทุนโดยให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นกู้เดิม (Rights Offering) 2 ครั้ง โดยมีผู้ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นมากกว่าจำนวนหุ้นที่มี (0versubscribe) ทำให้ต้องมีการจัดสรรและบริษัทสามารถเพิ่มทุนได้รวมจำนวน 83,610 ล้านบาท และส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 บริษัทได้มีการออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ แบบไม่มีประกัน อายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ซึ่งหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A+ (แนวโน้มคงที่) จาก บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด เสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ โดยมูลค่าหุ้นกู้รวมอยู่ที่ 54,000 ล้านบาท จากเดิมที่บริษัทตั้งใจจะออกหุ้นกู้มูลค่า 50,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากหุ้นกู้ของบริษัทได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ บริษัทจึงได้เพิ่มมูลค่าหุ้นกู้เป็น 54,000 ล้านบาท ซึ่งการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยเป็นหุ้นกู้ที่มีมูลค่าใหญ่ที่สุดที่ออกในครั้งเดียวของประเทศไทย โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของหุ้นกู้ที่ออกครั้งนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.98 ทั้งนี้ บริษัทขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่เชื่อมั่นในผลประกอบการและศักยภาพในการเติบโตของบริษัท และให้การต้อนรับการออกหุ้นกู้ของบริษัทเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ธนาคารหลายแห่งได้เห็นศักยภาพในการเติบโตของบริษัทและได้ให้ความสนใจในการปล่อยกู้ให้แก่บริษัทเพื่อรีไฟแนนซ์ โดยธนาคารที่ร่วมปล่อยกู้ทั้งหมด 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารมิซูโฮ และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
"เงินกู้ดังกล่าว เป็น สกุลเงินบาทมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทได้นำเงินจากการออกหุ้นกู้และเงินกู้ก้อนใหม่ไปรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้บริษัทลดต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับในการกู้เงินสกุลยูโร บริษัทได้มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนนี้เพิ่มเติม สำหรับแผนทางการเงินระยะยาว บริษัทคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการรีไฟแนนซ์เงินกู้สกุลเงินบาทและเพื่อลดต้นทุนทางการเงินในระยะยาวต่อไป" นายอัศวิน กล่าวในตอนท้าย