กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยตัวเลขธุรกิจประกันภัยช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2559)? ว่ามีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 382,020 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 7.97 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากธุรกิจประกันวินาศภัยจำนวนทั้งสิ้น 103,953 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.91 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 60,444 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.06 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 8,464 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.12 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 51,980 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 0.89 รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 35,370 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.32 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 5,428 ล้านบาท หดตัวลดลงร้อยละ 1.85 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 2,711 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.03
ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจำนวนทั้งสิ้น 278,067 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.71 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 204,770 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.40 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่มจำนวน 20,792 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 31.86 ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 3,379 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.14 และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 2,682 ล้านบาท ลดลงร้อยละ6.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 30,141 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ร้อยละ 44.20 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 ธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3,332,869 ล้านบาท ขยายตัวอย่างโดดเด่นที่ร้อยละ 14.66 เป็นสินทรัพย์ลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 2,773,014 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 2,477,373 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.14 ของสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันชีวิต โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ มีจำนวนสูงสุดที่ 2,2553,774 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.71 ของสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 21.29 และเงินฝาก 45,414 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.69 ซึ่งหากพิจารณาอัตราส่วนความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 126.02 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคงเข้มแข็งมีสินทรัพย์ลงทุนเพียงพอต่อหนี้สินผู้เอาประกันภัย
สำหรับสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวน 295,641 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.72 ของสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งนี้ สินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความ เสี่ยงต่ำ โดยลงทุนในพันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ จำนวน 96,068 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.49 และลงทุนในเงินฝากธนาคารจำนวน 86,522 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.27 ของสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.06 โดยเมื่อพิจารณาเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องของธุรกิจประกันวินาศภัย พบว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 มีสินทรัพย์สภาพคล่องรวมทั้งสิ้น 304,660 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.78
"จากสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงทิศทางยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม (Value-Based Economy) รวมทั้งการใช้ศักยภาพทางดิจิทัล เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมประกันภัยจำเป็นต้องปรับตัวและก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค ทั้งการขายผลิตภัณฑ์ การชี้แจงข้อมูลข่าวสารหรือใช้ดูแลและให้บริการหลังการขาย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของประชาชนที่แท้จริง" เลขาธิการ คปภ. กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012