กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.โชว์ หลักสูตรนานาชาติ iSC มุ่งบ่มเพาะบัณฑิตคุณภาพให้มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งด้านบริหารจัดการและวิชาการใน 3 สาขาหลัก
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รุกปั้นนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ รองรับความต้องการของทุกอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน หลังพบแนวโน้มความต้องการแรงงานสูงถึง 4 แสนคนต่อปี โดยปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) 3 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเคมีประยุกต์ และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โดยทั้ง 3 สาขานักศึกษาสามารถเข้าทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเคมีและอาหาร
รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีวิทยาการที่ล้ำสมัย และเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปตามลำดับ ประกอบกับนโยบายภาครัฐในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างปรับตัวและเตรียมแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศผ่านเมกะโปรเจคที่มีมูลค่าลงทุนมหาศาล อาทิ ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เตรียมร่วมทุนจัดสร้างรถไฟหัวกระสุนเชื่อมการเดินทางสองประเทศให้ถึงไวใน 90 นาที และในปี 2026 ประเทศเวียดนาม เตรียมทุ่มงบจัดสร้างอาคารสำนักงานสูง 42ชั้นที่นครโฮจิมินห์ เพื่อเป็นออฟฟิศสำรองรองรับการไหลเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ ฯลฯ จึงเป็นผลให้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาหาร และการท่องเที่ยวต่างมีความต้องการแรงงานที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนักเคมี ฯลฯ อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 4แสนคน (ข้อมูลจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) แต่ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตบุคลากรวิจัยได้เพียงปีละ 13 คนต่อ ประชากร 10,000คน หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 84,000 คน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในอันดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อาทิ ประเทศมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนบุคลากรวิจัยจำนวน 21 ต่อประชากร 10,000 คน และประเทศสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนบุคลากรวิจัยจำนวน 77 ต่อประชากร 10,000 คน
รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและปั้นนักวิทย์ยุคใหม่ที่มีศักยภาพ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจนมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบครัน อีกทั้งทักษะทางภาษาอังกฤษ รองรับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ในฐานะหน่วยงานการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับทักษะทางภาษา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงจุดเปลี่ยนดังกล่าว โดยได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ iSC: Industrial Science and Management ขึ้นเมื่อปี 2557 หลักสูตรที่มุ่งบ่มเพาะบัณฑิตให้มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งด้านบริหารจัดการและวิชาการในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เคมีประยุกต์ และเทคโนโลยีการอาหาร ตลอดจนมีความรู้ที่ใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างแท้จริง
หลักสูตรนานาชาติ สาขาวิทยาศาสตร์ อุตสาหการและการจัดการ (iSC) เป็นหลักสูตรที่มุ่งบ่มเพาะและผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถทางวิชาการที่เน้นหนักใน 3 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) สาขาเคมีประยุกต์ (Applied Chemistry) และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science) รวมทั้งมีความรู้รอบด้านการตลาด การจัดการต้นทุนการผลิต การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดการความเสี่ยง ผ่านการเรียนรู้ใน 6 สาระสำคัญอันเป็นหัวใจหลักของการบริหาร อันได้แก่ การบัญชีการเงินและการบริหาร พื้นฐานวิศวกรรมการแปรรูป การประกันคุณภาพ การตลาดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ การจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรม และ การจัดการโรงงานและการลงทุน โดยทั้ง 3 สาขานักศึกษาสามารถเข้าทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเคมีและอาหาร รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ กล่าว
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ(iSC) ตลอดหลักสูตรใน 4 ปีการศึกษา รวม 139 หน่วยกิต มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ชั้นปีที่ 1 เน้นศึกษาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวม 42 หน่วยกิต
2. ชั้นปีที่ 2 เลือกเข้าศึกษาในกลุ่มวิชาที่สนใจ โดยนักศึกษาจะต้องเรียนวิชาศึกษาทั่วไป จำนวน 7 หน่วยกิต วิชาพื้นฐานทางการจัดการ จำนวน 12 หน่วยกิต วิชาพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรม จำนวน 16 หน่วยกิต และวิชาเฉพาะวิชาชีพตามกลุ่มวิชาที่สนใจจำนวน 2หน่วยกิต รวมทั้งสิ้น 38 หน่วยกิต
3. ชั้นปีที่ 3 เน้นศึกษาวิชาระดับสูงด้านอุตสาหกรรมและการจัดการ จำนวน 9 หน่วยกิต และวิชาเฉพาะวิชาชีพ จำนวน 22 หน่วยกิต โดยในภาคฤดูร้อน นักศึกษาจะต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม หรือห้องปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ อย่างน้อย 180 ชั่วโมง เพื่อเสริมประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรม
4. ชั้นปีที่ 4 เน้นศึกษาวิชาระดับสูงด้านอุตสาหกรรมและการจัดการ จำนวน 6 หน่วยกิต วิชาเฉพาะวิชาชีพ จำนวน 8 หน่วยกิต และเน้นการฝึกความชำนาญในวิชาชีพสู่ระดับเชี่ยวชาญ จำนวน 4 หน่วยกิตผ่านการฝึกความสามารถในการนำเสนองานทางวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ ในรูปแบบการสัมมนา และการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการหล่อหลอมให้บัณฑิตมีความรู้ความเข้าใจที่แน่นหนักในด้านวิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการ ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้ พัฒนาต่อยอดสู่วิทยาการใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทางคณะฯ จึงได้ประสานกำลังอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเชิญวิทยากรพิเศษจากบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำระดับประเทศ อาทิ ปตท. ซีพี เบทาโก ฯลฯ มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้เชิงลึกแก่นักศึกษาให้เข้าใจได้อย่างถึงแก่น ควบคู่ไปกับการปลูกฝังทักษะกระบวนการคิดการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมและสามารถก้าวสู่สายงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา และเคมีภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งลักษณะงานจะเป็นในส่วนของการวิจัย การควบคุมคุณภาพ การพัฒนาสินค้าและธุรกิจหรือฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายนำเข้าและส่งออกบริษัทชิปปิ้งสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์(Product Manager) ผู้ทำหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร นักวิจัยและพัฒนา (R&D) ผู้วิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ เป็นต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรดา กล่าว
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรนานาชาติ iSC สำนักงานชั่วคราว ห้องโครงการบริการสังคม ชั้น 3 อาคารบรรยายรวม 5 (ฝั่งตะวันออก) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์099-051-5130, 02-564-4440 ต่อ 2680-1 เว็บไซต์http://www.isctu.com/หรือติดต่อ สำนักงานเลขานุการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์02-564-4491 เว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th/