กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมบัญชีครัวเรือนและส่งเสริมการใช้หลักธรรมาภิบาลในระบบบัญชี ในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ดูแลตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์โปร่งใส ถูกต้องและเป็นธรรมกับสมาชิก และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยกรมตรวจบัญชีฯ ได้ให้ความสำคัญในการสร้างอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีหรือครูบัญชีอาสา ในการทำหน้าที่เป็นเครือข่ายของกรมฯ ในการสอนแนะ กระตุ้นการเรียนรู้ และติดตามผลการทำบัญชีของเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชน และพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง
"เพื่อเป็นการต่อยอดการรณรงค์การทำบัญชีให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเกษตรกรสู่ครัวเรือน และขยายผลในระดับชุมชน ซึ่งทำให้เกิดตัวอย่างของเกษตรกรที่สามารถนำองค์ความรู้ทางบัญชีมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองได้ ซึ่งจากการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และครูบัญชี ได้ช่วยเสริมสร้างให้เกษตรกรได้ใช้บัญชีต้นทุนอาชีพไปประกอบการวางแผนธุรกิจในครัวเรือนของตน ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เน้นหลักภูมิปัญญาชาวบ้านและสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และเพื่อให้เกษตรกรไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีการทำบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพให้เข้มแข็ง" ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีแก่เกษตรกรขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จากบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือนที่ได้สอนแนะไปแล้ว 5.6 ล้านครัวเรือน มาสู่การทำบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อเสริมสร้างให้เกษตรกรรู้จักใช้ข้อมูลจากการบันทึกบัญชีมาวางแผนการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เกิดการเปรียบเทียบ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพ ทำให้รู้กำไร-ขาดทุนและสามารถเพิ่มรายได้ของตนเอง โดยมีเกษตรกรเป้าหมายจำนวน 2.4 ล้านคน ภายในระยะเวลา 6 ปี (2554-2559)
นางกฤษณา กฤษณวรรณ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้หลักธรรมาภิบาลในระบบบัญชี เพื่อสร้างระบบบัญชีที่เข้มแข็งควบคู่กัน ตัวอย่างเช่น สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบ้านต้นมะพร้าว จำกัด ซึ่งมีธุรกิจหลักในการผลิตกล้วยหอมทอง นับเป็นสหกรณ์ตัวอย่างในการยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการธุรกิจและองค์กรจนประสบความสำเร็จ โดยกำหนดให้สมาชิกทุกคนของสหกรณ์ จะต้องบันทึกบัญชีรับ-จ่าย เป็น เพื่อปลูกฝังและกระตุ้นให้สมาชิกเห็นความสำคัญของการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ทั้งนี้ ยังบริหารงานโดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลสมาชิกและการดำเนินงานทุก ๆ ธุรกิจ ได้ถูกต้อง รวดเร็ว ตรวจสอบได้ ทำให้เกิดความโปรงใส่ ตลอดจนใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อการบริหารจัดการ จนได้รับรางวัลผู้จัดการดีเด่น ระดับภาค ประเภทสหกรณ์การเกษตร ประจำปี 2554 อีกด้วย