กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
แจงผลศึกษางานวิจัย แนวทางพัฒนาการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตร AEC อีสานกลาง กรณีศึกษาอ้อยโรงงานของจังหวัดขอนแก่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 เปิดกลยุทธ์ผลศึกษา ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หวังร่วมผลักดันให้ไทยเป็น Sugarcane Hub ของอาเซียน
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัย "ขอนแก่น: แนวทางพัฒนาการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตร AEC อีสานกลาง กรณีศึกษาอ้อยโรงงาน ในปีงบประมาณ 2559" โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ได้ทำการศึกษา เพื่อวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดขอนแก่น กรณีอ้อยโรงงาน และเสนอแนะแนวทางกลยุทธ์การพัฒนาให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตรของอีสานกลาง สำหรับสินค้าอ้อยโรงงาน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การศึกษา สศท.4 ได้รวบรวมความคิดเห็นจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงาน หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และสหกรณ์ชาวไร่อ้อย รวมจำนวน 98 ราย และเสนอกลยุทธ์ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตร AEC อีสานกลางของจังหวัดขอนแก่น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ควรมีการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการทั้ง 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร พัฒนาระบบโรงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับต่อการเติบโต ศึกษาความต้องการของตลาดก่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดนอกเหนือจากอาเซียน สร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อประโยชน์ในการเจรจาการค้า และผลักดันพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Sugarcane Hub ของอาเซียน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายมากที่สุดในอาเซียน
ด้านนางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการ สศท.4 ได้กล่าวเสริมในรายละเอียดผลการศึกษา ซึ่งแบ่งเป็นกลยุทธ์ส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยกลยุทธ์ส่วนต้นน้ำ ได้แก่ การส่งเสริมการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดินตามนโยบาย Zoning ส่งเสริมการปลูกอ้อยอินทรีย์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย ส่งเสริมให้เกษตรกรกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีทางธรรมชาติ การส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยประจำอำเภอ เป็นต้น
กลยุทธ์ส่วนกลางน้ำ ได้แก่ ความร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบจองคิวส่งอ้อยล่วงหน้า การจัดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อการพัฒนากระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรการผลิตให้แก่โรงงานน้ำตาล และกลยุทธ์ส่วนปลายน้ำ ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนการตั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สนับสนุนโครงการนวัตกรรมของอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากอ้อยและน้ำตาลทราย ส่งเสริมการใช้เอทานอล และสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลขนส่งสินค้าทางรถไฟทางคู่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาครัฐควรร่วมทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต่อไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Sugarcane Hub ของอาเซียนต่อไป สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาดังกล่าว สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 โทร. 043 261 1513 หรืออีเมล zone4@oae.go.th