กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--โฟร์พีแอดส์ (96)
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้!!เว็บไซต์โฆษณาขายเครื่องสำอางในเฟสบุ๊คไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เบื้องต้นสั่งการให้ศูนย์ICT เผยแพร่ข้อมูลเตือนประชาชนผ่านสื่อออนไลน์แล้ว แนะประชาชนตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งต่อข้อมูลต่างๆให้ผู้อื่น ย้ำ!! "เช็คก่อนแชร์"
เมื่อเร็วๆนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรีนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจพบว่า มีการโฆษณาขายสินค้าทางเพจแนะนำในเฟสบุ๊ค (Suggested Post)ใช้ชื่อว่าสำนักงานสาธารณสุข และมีภาพโลโก้และข้อความที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามาจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลลวงเพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าและหลงเชื่อ เบื้องต้นได้ให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูลเตือนประชาชนผ่านสื่อออนไลน์แล้ว จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและอย่าแชร์การโฆษณาดังกล่าวต่อ โดยย้ำว่าการส่งต่อข้อมูลใดๆ ให้ผู้อื่นควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ "เช็คก่อนแชร์"ทุกครั้ง อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายขายสินค้าทางสื่อออนไลน์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ได้มอบให้นักกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือไม่ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย พร้อมทั้งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าผ่านการรับรองหรือไม่ เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัย ร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ติดต่อสายด่วน อย. 1556 หรือส่งไปรษณีย์มายังตู้ปณ. 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th ต่างจังหวัดแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งเครื่องสำอาง อาหาร และวัตถุอันตรายด้วยตนเอง ได้ทางอย.สมาร์ทแอพพลิเคชั่น (Oryor Smart Application)
ด้านผศ.(พิเศษ)นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข้อมูลเตือนประชาชน กรณีแอบอ้างเว็บฯสธ. โฆษณาขายเครื่องสำอางตามการสั่งการของรองปลัดสธ.แล้ว การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นภารกิจสำคัญของศูนย์ฯในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาช่วยให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและปลอดภัย มุ่งไปสู่การเป็น Smart Health Care ช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโรค รู้ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างปลอดภัย มีคุณภาพ และเป็นธรรม
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ ลดช่องว่างเชิงภูมิศาสตร์และเชิงสัมพันธภาพระหว่างประชาชนและผู้ดูแล เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและร่วมมือในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและชุมชนดีขึ้น.