กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--มทร.ธัญบุรี
ด้วยจุดเด่นของผลงานที่พัฒนาระบบโปรแกรมที่ใช้ในการสร้างพื้นผิว แบบสามมิติจากข้อมูลกลุ่มของจุดที่วัดได้จากเลเซอร์สแกนเนอร์และจากเซนเซอร์แบบคลื่นเสียง ที่สามารถใช้ในการคำนวณหาหน้าตัดของลำน้ำและเหนือผิวน้ำที่ใช้ช่วยวัดความสูงตลิ่งได้และสามารถคำนวณหาปริมาตรความจุของน้ำในแต่ละช่วง ส่งผลให้ "เรือหุ่นยนต์สองทุ่นแบบใช้งานระยะยาวสำหรับสำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์" คว้า "รางวัลระดับดีเด่น"ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2559 และ "รางวัลชนะเลิศ" การเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2559 จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 Thailand Research Expo 2016 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทีมงานนักวิจัยประดิษฐ์ นายสุรศักดิ์ ทิมพิทักษ์ นายชาญณรงค์ ชูลุย นายไกรศักดิ์ โพธิ์ทองคำ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ ,ผศ.ดร.มนูศักดิ์ จานทอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลเป็นที่ปรึกษา เพื่อหาความลาดชันของตลิ่งและสามารถแสดงภาพพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำ และช่วยคำนวณหาปริมาตรความจุของลำน้ำ โดยทางทีมงานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2558
ทีมงานวิจัย เปิดเผยว่า ภูมิประเทศของประเทศไทย พบว่ามีลุ่มแม่น้ำหลายแหล่งที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินหรือริมตลิ่ง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของการพังทลายของริมตลิ่งนั้นเกิดจากกระแสน้ำและกระแสลมจากสภาพภูมิประเทศและอากาศ หรือ ภัยที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะของตลิ่งและพื้นที่เขตชุมชนจนทำให้เกิดความเสียหาย ทางทีมงานวิจัยจึงได้พัฒนาเรือหุ่นยนต์สองทุ่นต้นแบบขึ้นมา โดยเรือหุ่นยนต์สองทุ่นต้นแบบ มีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนเรือด้วยสองใบพัดแบบdifferential เพื่อรองรับการปฏิบัติงานต่อเนื่องได้นานกว่า 3 ชั่วโมง ติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดหน้าตัดความลึก (Cross-sectional profile) ของลำน้ำ ด้วยคลื่นเสียง หรือ echo sounder และความสูงตลิ่ง (Bank height) ของแหล่งน้ำ ด้วยเลเซอร์สแกนเนอร์ โดยในการเก็บข้อมูลจำเป็นต้องรู้ค่าความลึกของหน้าตัดลำน้ำทั้งใต้และเหนือผิวน้ำอย่างน้อย 6 จุด ขึ้นอยู่กับความกว้างของลำน้ำต่างๆ พร้อมนำข้อมูลที่ได้มาประมวลหาลักษณะของหน้าตัดคลองหรือแหล่งน้ำ ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้หาความลาดชันของตลิ่งและสามารถแสดงภาพพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำได้
โดยตัวเรือหุ่นยนต์ทำจากสแตนเลส ขนาดยาว 1.8 x กว้าง 1.6 m ที่สามารถนำขึ้นลงจากแหล่งน้ำได้ง่ายและใช้งานทั้งในน้ำจืดลำน้ำเค็ม โดยควบคุมการเคลื่อนที่ใน โหมดการบังคับด้วยรีโมทผ่านคลื่นวิทยุในระยะทางไม่เกิน 500 เมตร และโหมดการเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติตามจุดเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเรือหุ่นยนต์สามารถปฏิบัติงานในแหล่งน้ำต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง โดยใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าเป็นแหล่งจ่ายพลังงานในเรือหุ่นยนต์ และสามารถใช้สำรวจเก็บข้อมูลทางอุทกศาสตร์ ที่ประกอบด้วยหน้าตัดของน้ำโดยวัดด้วยเซนเซอร์แบบคลื่นเสียงและความสูงของตลิ่งทั้งสองฝั่งลำน้ำโดยวัดด้วยเลเซอร์สแกนเนอร์ทางด้านซ้ายและขวาของเรือ ใช้ในคลองหรือแม่น้ำที่มีความกว้างไม่เกิน 160 เมตร
ทางทีมงานวิจัยนำเทคโนโลยีไปช่วยสำรวจความลึกของท้องน้ำ หน้าตัด และความกว้าง และความสูงของตลิ่งของคลองลาดพร้าว และคลอง 26 จังหวัดอยุธยา เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ เพื่อหามาตรการรองรับน้ำในหน้าน้ำหลาก และการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในหน้าแล้ง และเพื่อเป็นการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งที่เกิดการพังทลายในแต่ละปี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำรวจแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง ที่ต้องการทราบความสูงตลิ่งและปริมาตรการจุของน้ำ
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร 02-549-4415 หรือทาง www.rmutt.ac.th