ILCT: ปัญหาข้อกฎหมายของการทำ Caching และ Mirroring บนเว็บไซท์ (3)

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 13, 2001 16:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
อาทิตย์ที่แล้วผมค้างท่านผู้อ่านไว้ในเรื่องปัญหาข้อกฎหมายของการทำ Caching วันนี้เรามาว่ากันต่อครับ การทำ Caching นั้นตามที่ได้อธิบายไปในครั้งก่อนๆแล้วครับว่าเป็นการทำซ้ำข้อมูลโดยนำมาเก็บไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ของผู้ให้บริการ (โดยปกติมักนิยมทำ Caching กับข้อมูลที่ผู้ใช้บริการดาวน์โหลดบ่อยๆ) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่แท้จริง ( Original Resource) รวดเร็วยิ่งขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การทำซ้ำข้อมูลดังกล่าวผิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่
คำตอบคือหากงานดังกล่าวมีลิขสิทธิ์และถูกนำมาทำซ้ำโดยวิธี Caching โดยการพักหรือเก็บข้อมูลไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ของผู้ให้บริการ หรือกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายอาจทำ Caching ข้อมูลของผู้อื่นเพื่อนำมาใช้ในเว็บไซท์ของตนโดยไม่ได้อ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูลและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นความผิดฐานทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามมาตรา 4 และ 27 ของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ครับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการทำซ้ำโดยการนำงานผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำ Web Crawler ตัวอย่างเช่น เว็บไซท์ A .ให้บริการ Web Crawler โดยจัดหา รวบรวมงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เช่น บทความทางวิชาการ บทวิจารณ์ต่างๆ หรือรูปภาพจากภาพยนต์หรือการ์ตูนต่างๆ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของตนผ่านเว็บไซท์ วิธีการใช้บริการนั้นลูกค้าแต่ละรายต้องดาวน์โหลดโปรแกรมเฉพาะที่ออกแบบโดยเว็บไซท์ A เพื่อทำ Web Crawler โดยสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ของเว็บไซท์ A ให้ดึงงานมาจากเว็บไซท์ต่างๆตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยข้อมูลทั้งหมดไม่ได้มีการรวบรวมหรือจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเว็บไซท์ A แต่อย่างใด เว็บไซท์ A เพียงขายซอพแวร์และช่วยเหลือในการดึงข้อมูลจากเว็บไซท์โดยการทำ Web Crawler เท่านั้น โดยการทำซ้ำหรือเก็บงานของผู้อื่นทั้งหมดในแต่ละครั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของเว็บไซท์ A จะทำซ้ำข้อมูลตามคำสั่งของผู้ใช้บริการเท่านั้น การกระทำดังกล่าวนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ผมขอหยิบยกตัวอย่าง 2 ตัวอย่างมาพิจารณาคือ 1) กรณีของเว็บไซท์ Napster.com ที่เป็นข่าวโด่งดังปีที่แล้วเนื่องจาก Napster ใช้เทคโนโลยี Peer to Peer Sharing ที่คล้ายคลึงกับตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการแต่ละรายของ Napster สามารถดาวน์โหลดเพลงศิลปินที่ตนชื่นชอบได้โดยผู้ใช้บริการของ Napster แต่ละรายต้องดาวน์โหลดโปรแกรมของ Napster มาใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการแต่ละรายเข้าด้วยกันเป็นระบบเครือข่าย โดย Napster ไม่ได้เก็บแฟ้มข้อมูลของเพลงที่มีลิขสิทธิ์อยู่บนคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ของ Napster แต่อย่างใด ผู้ใช้บริการแต่ละรายจะเป็นคนเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ในฮารด์ดิสก์ของตน และ 2) กรณีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP (Internet Service Provider) ที่ให้บริการแก่ลูกค้าของตนและลูกค้าบางรายอาจทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ผู้อื่น มาเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือ ISP ต้องรับผิดหรือไม่
กรณีของ Napster นั้น ศาลอุทธรณ์ของอเมริกา (The Ninth circuit Court) ตัดสินว่า Napster มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจาก Napster รู้ว่ามีการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ความช่วยเหลือในการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์โดยการจัดหาโปรแกรมซอพแวร์มาให้แก่ลูกค้าของตนใช้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นการช่วยเหลือให้มีกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หรือที่หลักกฎหมายอเมริกาเรียกว่า "Contributory Infringement" ซึ่งผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ของ อเมริกา(DMCA- The digital Millennium Copyright Act 1998) นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า Napster รับทราบถึงการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาโดยตลอดแต่เพิกเฉยไม่ทำการยกเลิกการใช้เทคโนโลยี Peer to Peer Sharing หรือใช้เทคโนโลยีในการสกัดกั้นการทำซ้ำงานดังกล่าว กรณีของ Napster หรือ กรณีของเว็บไซท์ A นั้นถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทยเนื่องจากการทำซ้ำไม่ได้ไม่ได้เกิดจาก Napster แต่เกิดจากผุ้ใช้บริการแต่ละราย ความผิดที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดสำหรับ Napster "หรือ Website A ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ของไทยคือ "การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต"ครับ แต่กรณีดังกล่าวนี้ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใดครับ
ปัญหาต่อมาคือหากนำบรรทัดฐานจากคดี Napster มาพิจารณา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือกรณีที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP ไม่ทราบว่าลูกค้าของตนทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของตน ISP รายนั้น ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ และ หากในทางกลับกัน ISP รายนั้นทราบถึงการกระทำละเมิดแต่เพิกเฉยไม่ลบข้อมูลที่ละเมิดนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของตน ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไรคำตอบคือในกรณีที่ ISP รายนั้นไม่ทราบและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ใช้บริการ ISP เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (conveyor) หากพิจารณาตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือ ISP ไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ครับเพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกายกเว้นความรับผิดของ ISP ไว้ในกรณีดังกล่าวไว้ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรบที่บัญญัติกฎหมายไว้รองรับในแนวทางเดียวกัน ในส่วนของกฎหมายไทยนั้นยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าวไว้ชัดเจน อย่างไรก็ตามผมมีความเห็นว่า ISP ไม่น่าจะมีความผิดฐานกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ครับเพราะการทำซ้ำไม่ได้เกิดจาก ISP แต่เป็นเพราะผู้ใช้บริการทำคำสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของ ISP ทำซ้ำหรือ Caching งานของผู้อื่น ส่วนในกรณีที่ ISP รับทราบว่ามีการทำละเมิดลิขสิทธิ์แล้วเพิกเฉยกรณีดังกล่าวนี้ทั้งกฎหมายไทยและต่างประเทศน่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ISP รายนั้นอาจมีความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ครับ
มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่า ในกรณีของ เว็บไซท์ Search Engine เช่น Yahoo.com นั้น ทำซ้ำงานผู้อื่นได้อย่างไร คำตอบคือ กรณีของ yahoo.com นั้นเป็นการทำ Link ที่เรียกว่า " Web Directory" ครับ ซึ่งเจ้าของเว็บไซท์ที่ต้องการให้เว็บไซท์ของตนเป็นที่รู้จักก็จะมาลงทะเบียนในเว็บไซท์ Yahoo.com เพื่อโฆษณาเว็บไซท์ของตนเพื่อให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปสามารถหาข้อมูลทางธุรกิจของตนจากเว็บไซท์ได้ ซึ่งบางครั้งหากต้องการให้ลำดับในการค้นข้อมูลอยู่ลำดับต้นๆก็อาจต้องจ่ายค่าโฆษณาด้วย ดังนั้นการลงทะเบียนดังกล่าวจึงอาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่เจ้าของเว็บไซท์หรือเจ้าของงานลิขสิทธ์ในเว็บไซท์ให้อนุญาตโดยปริยาย( Implied License) แก่ yahoo.com ในการทำ link หรือทำซ้ำงานดังกล่าวเพื่อโฆษณางานของตนจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ครับ
ในครั้งหน้าผมจะมาเฉลยคำตอบเรื่องของการเขียนเว็บไซท์ โดยใช้โปรแกรม Java script, Active X หรือ การใช้ โปรแกรม cookies เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการรวมถึงการนำบทความผู้อื่นมาติดไว้ที่ Bulletin Board เช่นกรณี pantip.com ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ อย่าลืมติดตามนะครับ--จบ--
-ณท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ