กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะการนำ Information Technology มาใช้เพื่อการค้าหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความสะดวกรวดเร็ว มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก และมีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นทุกปีๆ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดโลกการค้าเสรีเช่นในปัจจุบัน
โครงการเครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติจึงได้มีนโยบายและแผนงานในการส่งเสริมพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมที่รวมตัวกันในรูปสหกรณ์ ชมรม กลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ ให้มีช่องทางการขยายธุรกิจของตนไปสู่นานาประเทศโดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงได้จัดโครงการ "ส่งเสริมและพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภาคเหนือ" ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการประสานความร่วมมือเพื่อให้การบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีความเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยองค์กรภาครัฐเอกชน ได้แก่ โครงการเครือข่ายสวทช.ภาคเหนือ เขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์และเทคโนโลยีปาร์คเชียงใหม่ประสานงานให้ความร่วมมือและข้อตกลงร่วมกันรวมทั้งดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการด้านการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิต ผ่านระบบ SIPS (SCB Internet Payment System) บริษัท ไทยเทรดพร้อยท์ ดอทคอม จำกัด ให้บริการการเผยแพร่ข้อมูลการซื้อขาย บริการรับชำระสินค้าจากผู้ซื้อสินค้า และบริการขนส่งสินค้า บริษัท ดี เอช แอล (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการด้านการขนส่งสินค้า
โดยได้จัดให้มีพิธีแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการ"ส่งเสริมและพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภาคเหนือ" โดยมี นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาตร์ฯเป็นประธานในพิธี ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าในครั้งนี้เพื่อตกลงร่วมมือกันดำเนินโครงการมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2544 - 12 กรกฎาคม 2545 (ต่อหน้าหลัง) นายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า " ในภาวะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า ภาคการส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าหัตถกรรมของประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาด และมีมูลค่าการส่งออกหลายพันล้านบาทต่อปี นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจะสามารถช่วยพลิกฟื้นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศได้ รัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญตามสายงานมาระดมความรู้ ความและความร่วมมือในระดับประเทศเพื่อช่วยกันเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศไทย" นายวิชิต ญาณอมร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ธนาคารได้เล็งเห็นความสำคัญและแนวโน้มที่ดีของธุรกิจ E-Commerce จึงได้ให้การสนับสนุนภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพด้านธุรกิจ E-Commerce ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินเป็นธนาคารแรกตั้งแต่ปี 2540 ทั้งในด้านการให้ คำแนะนำปรึกษา จัดอบรมสัมมนาแก่ผู้ประกอบการเพื่อทำธุรกรรมดังกล่าว การจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย และที่สำคัญ คือ การวางระบบความปลอดภัยในการชำระเงินซึ่งธนาคารได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยได้พัฒนาเป็นระบบ Online Real-time ที่เรียกว่า SIPS (SCB Internet Payment System) ใช้ระบบรักษาความปลอดภัย SSL 128 Bits ซึ่งได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับสูง สามารถอำนวยความสะดวกในการเป็น Payment Gateway ให้กับร้านค้าสมาชิกที่จำหน่ายสินค้าและบริการผ่าน Internet ได้เป็นอย่างดี ลูกค้าสามารถ ซื้อขายและชำระเงินตามความต้องการด้วยตนเองโดยอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง" จากความร่วมมือดังกล่าวในครั้งนี้คาดว่าจะมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทยให้มีการเจริญเติบโต มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีโลก อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งและมีรากฐานที่มั่นคงต่อไป--จบ--
-สส-