กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ซิกม่า ไฮโดร คอนซัลแตนท์
กรมชลประทาน จับมือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจังหวัดปทุมธานี สานต่อแนวคิด "โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบบระบายน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง" จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2
กรมชลประทาน สานต่อแนวคิด "โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบบระบายน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง" จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-16 กันยายน 2559 จำนวน 8 เวที เน้นเปิดกว้างรับข้อเสนอแนะเชิงลึก จากประชาชนผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย เพื่อให้แนวทางการดำเนินงานศึกษาปรับปรุงระบบชลประทาน ในพื้นที่สอดคล้องกับหลักวิชาการและตรงความต้องการของชุมชน
การดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ โดยการเข้าร่วมประชุมและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่มีความจำเป็นในการศึกษาพัฒนาโครงการ จนโครงการสามารถจัดทำร่างสรุปลักษณะโครงการของการปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และจะนำเสนอร่างสรุปลักษณะโครงการ ดังกล่าวในเวทีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-16 กันยายนนี้ โดยในการประชุมโครงการจะให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็น และข้อห่วงกังวล ต่อร่างสรุปลักษณะโครงการ อีกทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลต่างๆ จากที่ประชุม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ให้ได้องค์ประกอบการปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างที่สอดคล้อง กับศักยภาพของพื้นที่และตรงตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับปรุงระบบชลประทานตามผลการศึกษา โครงการจะยึดหลักการในการปรับปรุงโดยจะกำหนดขอบเขตการขุดลอกคลองให้อยู่ในเขตคลองเดิม เพื่อระบายน้ำโดยระบบคลอง ในแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก ต่อเนื่องไปสู่อ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง และพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น
"ในการจัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 นี้ คาดว่าจะประสบความสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ และประชาชนทั้งผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไป โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมเพื่อรับฟังร่างผลการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขผลการศึกษาให้ถูกต้องตรงตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด"