กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ซูเปอร์โพล
ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัย เรื่องโพล จังหวัดไหนคนสุขสุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง โพล จังหวัดไหนสุขสุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 77 จังหวัดของประเทศจำนวน 30,800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 12 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึง ความสุข เวลานึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง พบว่า ร้อยละ 57.8 ระบุว่า มีความสุข ในขณะที่จำนวนมากหรือร้อยละ 42.22 ไม่มีความสุข และเมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ชายมีสัดส่วนของคนที่มีความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองมากกว่าหญิงอยู่เล็กน้อยคือ ร้อยละ 58.35 ต่อ ร้อยละ 56.14 และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี กลับมีความสุขเมื่อนึกถึงเงินที่อยู่ในกระเป๋าของตัวเองมากกว่า คนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี คือ ร้อยละ 59.01 ต่อ ร้อยละ 50.04
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ การจัดอันดับประชาชนในทั้ง 77 จังหวัดของประเทศในเรื่องความสุข เมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง พบว่า จังหวัดอันดับที่ 1 ที่ประชาชนมีความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ (72.41) รองลงมาใน 10 จังหวัดแรก ได้แก่ อุดรธานี (65.04) ลำปาง (64.07) จันทบุรี (63.62) กระบี่ (63.46) ลำพูน (63.00) สุโขทัย (62.38) ศรีสะเกษ (62.07) และระยอง (61.91)
ในขณะที่ จังหวัดที่ประชาชนมีความสุขน้อยสุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองใน 5 อันดับสุดท้ายของประเทศได้แก่ ชลบุรี (43.60) อุทัยธานี (42.00) ภูเก็ต (41.6) ปทุมธานี (40.40) และ สุดท้ายได้แก่จังหวัด ขอนแก่น (40.00) ตามลำดับ
"ที่น่าพิจารณาคือ มี 20 จังหวัดเป้าหมายที่คนไม่ถึงครึ่งมีความสุขเมื่อนึกถึงเงินในและเป๋าตัวเอง และ เมื่อถามเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่มีความสุขว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.5 ระบุ หนี้สิน รองลงมาคือร้อยละ 73.4 ระบุ ค่าครองชีพ ร้อยละ 68.9 ระบุ การเล่นพนัน เสียเงินค่าหวยใต้ดิน ร้อยละ 61.2 ระบุ เศรษฐกิจไม่ดี ร้อยละ 55.8 ระบุ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด ร้อยละ 45.3 ระบุ ความไม่มั่นคงในอาชีพ ต้องเปลี่ยนงานบ่อย คนต่างด้าวเยอะ ถูกแย่งอาชีพ ตกงาน และร้อยละ 15.8 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ไม่มีที่ทำกิน ภาระเยอะ ไม่มีโอกาสเรียนสูง ปัญหาสุขภาพ ถูกหลอกลวง ต้มตุ๋น เป็นต้น" ดร.นพดล กล่าว