กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กทม.
ที่โรงแรมเอเซีย เขตราชเทวี เมื่อวันที่ 22 ก.ย.43 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนา การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร โดยมีนายโยธิน ทองคำ ผู้ตรวจราชการ 10 ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานนโยบายด้านเทศกิจ นายเจิดศักดิ์ ชีวะก้องเกียรติ นายชาญ ภัทรกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พล.ต.ต.บริบูรณ์ วุฒิภักดี รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร สถานีตำรวจนครบาลต่าง ๆ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายเทศกิจทุกสำนักงานเขต ตลอดจนผู้ค้า ผู้แทนประชาคม และผู้เกี่ยวข้องร่วมสัมมนา
นายเจิดศักดิ์ กล่าวว่า การเป็นศูนย์รวมความเจริญของกรุงเทพมหานครส่งผลให้เกิดการอพยพของประชากรในชนบทเพื่อเข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง และมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ประกอบอาชีพด้วยการจำหน่ายสินค้าบนทางเท้า หรือที่สาธารณะอื่น ๆ กรุงเทพมหานครโดยสำนักเทศกิจ และฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตต่าง ๆ ได้ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้มาตรการและหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด หากมีการฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่เทศกิจในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับหรือสั่งให้หยุดจำหน่ายสินค้าเพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่อง ในปัจจุบันปรากฏว่าได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้เรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ค้าในทางที่มิชอบเป็นจำนวนมาก แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาตรการและหลักเกณฑ์การจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ตาม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อชาวกรุงเทพมหานครทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า ผู้ใช้ถนน ผู้ใช้ทางเท้า หรือเจ้าของอาคาร กรุงเทพมหานครจึงได้จัดให้มีการสัมมนาในวันนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ค้า — ประชาชน และสื่อมวลชน ได้มีโอกาสร่วมกันระดมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางเพื่อให้การจัดระเบียบหาบเร่ — แผงลอยเกิดประโยชน์ร่วมกัน
นายสหัส กล่าวว่า ปัญหาหาบเร่ - แผงลอยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี เมื่อกรุงเทพมหานครมีความเจริญมากขึ้น มีประชากรมากขึ้น และเป็นศูนย์รวมในทุก ๆ ด้าน จำนวนหาบเร่-แผงลอยก็เพิ่มมากขึ้น การที่สมาชิกของสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้นั้น จะต้องมีการอะลุ้มอล่วยซึ่งกันและกัน ทั้งประชาชนผู้ใช้ทางเท้า และผู้ประกอบการค้าในที่สาธารณะ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกติกาที่กรุงเทพมหานครกำหนดโดยเคร่งครัด
กรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานนโยบายด้านเทศกิจเพื่อพิจารณาดำเนินการในแนวทางหลัก ๆ คือ การจัดระเบียบ ทำทะเบียนผู้ค้า การอนุญาต การกำหนดมาตรการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งกำหนดมาตรการไม่ให้มีการรีดไถผู้ประกอบการค้า ซึ่งขณะนี้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้คืบหน้าไปมากแล้ว โดยกรุงเทพมหานครดำเนินการตีเส้นบริเวณที่กำหนดให้จำหน่ายสินค้าได้ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนบัตรประจำตัวผู้ค้าในจุดผ่อนผันและจุดทบทวนก่อน ส่วนผู้ค้าที่ขายในที่ห้ามขาย กรุงเทพมหานครจะพิจารณาจัดหาสถานที่ให้ จากนั้นเวลา 11.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายของกรุงเทพมหานคร และแนวทางแก้ไขปัญหาการค้าในที่สาธารณะ” ให้แก่ผู้เข้าสัมมนา โดยกล่าวว่า ตนต้องการให้ผู้ค้าในที่ที่ควรอนุเคราะห์ได้ค้าขาย ภายใต้การจัดระเบียบของกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีการกล่าวหาว่ามีการเสียเงินนอกระบบ และไม่เคยเอ่ยเลยว่าให้มีการค้าขายกันตามใจชอบ กล่าวคือ ผู้ค้าหาบเร่ — แผงลอยมีอยู่ 3 ประเภทคือ ผู้ค้าในจุดผ่อนผัน ผู้ค้าในจุดทบทวน และผู้ค้าในจุดที่ไม่อนุญาตให้ค้าขาย จากตัวเลขจำนวนผู้ค้ามีประมาณ 25,000 คน ซึ่งพิจารณาดูแล้วเป็นจำนวนไม่มาก และไม่ต้องการให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ค้า นอกจากนี้ตนไม่เห็นด้วยที่เอาสินค้าในร้านมาตั้งวางขายนอกร้านเพื่อเป็นการเลี่ยงภาษี แล้วกลายเป็นแผงลอย ผู้ที่ค้าขายในร้านค้าควรค้าขายภายในร้าน ผู้ที่ค้าขายแบบหาบเร่- แผงลอยก็ควรเป็นหาบเร่ - แผงลอยจริง ๆ สำหรับสถานที่ค้าขายที่จัดเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นตัวอย่างที่ดี คือ บริเวณหน้าตลาดราชวัตร เขตดุสิต จะมีแผงสีเขียวยาวตั้งแต่แยกราชวงศ์จนเกือบถึงหน้ากรมสรรพสามิต เพื่อกันผู้ค้าไม่ให้รุกล้ำลงบนผิวจราจร
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อว่า ในการจัดระเบียบหาบเร่ — แผงลอยนั้นสิ่งที่ตนปรารถนาจะให้มีคือ การทำแผงกั้นริมถนนไม่ให้ผู้ค้าขายรุกล้ำลงบนถนน เพราะจะได้เป็นสัดส่วน มีการขีดสีตีเส้น จัดทำทะเบียนผู้ค้าเพื่อทราบว่าผู้ค้าเป็นใคร มาจากไหน ใส่เลขบัตรประจำตัวผู้ค้าเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และทราบจำนวนผู้ค้าจริงที่ชัดเจน เมื่อเลิกทำการค้าให้ล้างทำความสะอาดพื้นที่ ส่วนสถานที่ไม่อนุญาตให้ค้าขาย อาทิ บริเวณป้ายรถประจำทาง บริเวณทางเท้าแคบ ๆ ทางขึ้น-ลงสะพานลอยคนเดินข้าม ฯลฯ ตนเห็นด้วยที่ไม่อนุญาตให้ค้าขาย อย่างไรก็ดีเมื่อมีการจัดระเบียบหาบเร่ - แผงลอยเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเจ้าหน้าที่เทศกิจจะเน้นกวดขันจับปรับผู้ค้าขายที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้ตนขอเรียนว่า กทม.ต้องการรักษาระเบียบ รักษาความสะอาด และรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีสองข้างถนน รวมทั้งขอฝากว่า ผ้าพลาสติกที่คุมแผงลอยจนมองไม่เห็นบริเวณข้างถนนนั้น อาจใช้ร่มที่มีความสวยงามกางเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับถนน รวมถึงแผงกั้นริมถนนขอให้จัดทำให้เป็นแนวเดียวกันทั้งฝั่งธนบุรีและพระนครด้วย
ด้านนายโยธิน ทองคำ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานนโยบายด้านเทศกิจ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการดำเนินการอีกแนวหนึ่งเพื่อระดมความคิดเห็นจากบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาของเมือง ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้ร่วมกันเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย และเรื่องการจัดการทางเท้าให้ถูกใจชาวกทม. อาทิ ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยระดับเขตโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย, กำหนดเรื่องการใช้ร่มหรือผ้าใบของแผงค้าให้ชัดเจนเป็นแนวเดียวกัน, ควรมีการจัดหมวดหมู่และกำหนดประเภทสินค้าที่ขายให้ชัดเจน, ปลูกจิตสำนึกให้ผู้ค้ารักษาความสะอาดและปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาล เป็นต้น ซึ่งความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติของผู้ร่วมสัมมนาในครั้งนี้ จะได้ประมวลและนำเสนอผู้บริหารเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการให้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--
-นศ-