บ้านปูขยายธุรกิจถ่านหินระหว่างประเทศ เตรียมพร้อมรับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นใช้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก

ข่าวทั่วไป Wednesday March 14, 2001 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--บ้านปู
บ้านปูเข้าทำธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติมในอินโดนีเซีย สนับสนุนพันธมิตรท้องถิ่นซื้อแหล่งถ่านหินปริมาณสำรองกว่า 180 ล้านตัน เพิ่มปริมาณการผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากเดิม 2 เท่าตัว เตรียมใช้สถานการณ์ตึงตัวของตลาดถ่านหินระหว่างประเทศที่คาดว่าจะต่อเนื่องออกไป 2-3 ปีข้างหน้าสร้างการเจริญเติบโตออกไปในระดับภูมิภาค
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซียโดยการผลิตและจำหน่ายถ่านหินออกจากเหมืองโจร่ง (Jorong) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะกาลิมันตันนับตั้งแต่ปี 2539 แล้ว บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมที่จะขยายธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม โดยได้ตกลงที่จะให้การสนับสนุนบริษัท เซ็นทรัลลิงค์ วิเซซา อินเตอร์เนชั่นแนล (เซ็นทรัลลิงค์) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียประมูลซื้อแหล่งถ่านหินคุณภาพดีในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 4 แหล่ง รวมปริมาณสำรองกว่า 180 ล้านตัน
แหล่งถ่านหินจำนวน 4 แหล่งดังกล่าว มีชื่อเรียกรวมกันว่า อินโดโคล (Indocoal) เป็นแหล่งถ่านหินที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารสินทรัพย์ของประเทศอินโดนีเซีย (Indonesian Bank Restructuring Agency - IBRA) นำออกมาประมูลรวมกัน ประกอบด้วยแหล่งถ่านหินที่มีการผลิตอยู่แล้วจำนวน 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตรวมปัจจุบันกว่า 5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อเตรียมผลิตอีก 2 แหล่ง ซึ่งปรากฏว่าเซ็นทรัลลิงค์เป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544โดยมีรายละเอียดของแหล่งถ่านหินทั้ง 4 แหล่งตามเอกสารแนบ
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือที่มีกับเซ็นทรัลลิงค์ว่า เป็นการตกลงร่วมกันที่จะนำเอาทรัพยากรและจุดแข็งที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยบ้านปูจะให้การสนับสนุนใน 3 ด้านหลักๆ ประกอบด้วย
1. ด้านการผลิต บ้านปูจะให้การสนับสนุนในด้านการบริหารการผลิตในอินโดโคลตลอดทั้งกระบวนการ โดยอาศัยความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์ บุคลากร เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วเข้าไปช่วยในการบริหารการผลิตร่วมกับอินโดโคลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ด้านการตลาด บ้านปูจะเป็นผู้จำหน่ายถ่านหินที่ผลิตได้จากอินโดโคล โดยใช้ฐานการตลาดเดิมซึ่งอินโดโคลมีอยู่แล้วผนวกกับฐานการตลาดของบ้านปูซึ่งมีทั้งในประเทศอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ และที่จะพัฒนาและขยายออกไปอีกในอนาคต
3. ด้านการเงิน บ้านปูจะให้การสนุบสนุนเบื้องต้นในรูปของเงินกู้แก่เซ็นทรัลลิงค์เพื่อนำไปชำระค่าประมูลซื้อแหล่งถ่านหิน โดยมีเงื่อนไขว่าเงินกู้ทั้งจำนวนสามารถแปลงสภาพเป็นทุนได้(Convertible Loan) ในระยะต่อไปโดยตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้บ้านปูมีสิทธิในการบริหารและการจัดการได้ในอนาคต จำนวนเงินที่บ้านปูจะให้การสนับสนุนแก่เซ็นทรัลลิงค์ คือ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินจากสภาพคล่องที่บ้านปูมีอยู่อย่างเพียงพอในปัจจุบัน
สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานในครั้งนี้ นายชนินท์ เปิดเผยว่าบ้านปูจะได้รับประโยชน์ที่สำคัญหลายประการคือ
1.เพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินเพื่อการจัดจำหน่ายจากเดิมที่มีอยู่กว่า 60 ล้านตัน เป็นกว่า 240 ล้านตัน
2.ขยายขนาดการดำเนินงาน โดยเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินจากเดิมประมาณ 6.8 ล้านตันต่อปี เป็นประมาณ 12 ล้านตันต่อปี และขยายขนาดของตลาดและขอบข่ายการตลาดในต่างประเทศให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น
3.เพิ่มความหลากหลายของสินค้า มีคุณภาพถ่านหินที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถ่านหินจากแหล่งของอินโดโคลร่วมกับถ่านหินจากแหล่งของบ้านปูเอง
4.ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการผลิต การบริหารและการจัดการ ของบ้านปูและอินโดโคลจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุนทั้งในการผลิตและการขนส่ง
5.สามารถใช้บุคลากรและเครื่องจักรที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการจัดการในอินโดโคล
ทั้งนี้ บ้านปูได้พิจารณาแล้วว่าการขยายธุรกิจดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากอินโดโคลได้ทำการผลิตและจำหน่ายถ่านหินมากกว่า 5 ล้านตันต่อปีอยู่แล้ว อีกทั้งความชำนาญและในด้านการผลิตและการตลาดของบ้านปูเมื่อผนวกกับความชำนาญในด้านการผลิตและการตลาดของอินโดโคลที่ยาวนานกว่า 15 ปีจะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต และเนื่องจากเซ็นทรัลลิงค์เป็นบริษัทท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย เซ็นทรัลลิงค์จะช่วยให้การสนับสนุนในเรื่องความรู้ การประสานงานและการตลาดภายในประเทศอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดีก่อนหน้านี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมาแล้ว โดยทำการผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากเหมืองโจร่ง (Jorong) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะกาลิมันตัน มีกำลังการผลิต 3 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันเหมืองโจร่งมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือ 46 ล้านตัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของแหล่งถ่านหินมัมปุนปันดัน (Mumpun Pandan) ซึ่งตั้งอยู่ในเกาะสุมาตรา มีปริมาณสำรองถ่านหินที่สำรวจพบ 18 ล้านตัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมแผนการผลิตในปี 2546
ส่วนในประเทศไทย บริษัทบ้านปูนับเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังการผลิตและจำหน่ายรวม 3.8 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือ 20 ล้านตัน
อินโดโคล(Indocoal)
แหล่งถ่านหินอินโดโคล (Indocoal) เป็นชื่อที่ใช้เรียกแหล่งถ่านหินรวมจำนวน 4 แหล่งที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารสินทรัพย์ของประเทศอินโดนีเซีย (Indonesian Bank of Restructuring Agency - IBRA) นำออกมาเปิดประมูล ประกอบด้วย
1.เหมืองอินโดมิงโก (Indominco)
สัดส่วนหุ้นที่ให้ประมูล: ร้อยละ 65
ที่ตั้ง: ทิศตะวันออกของเกาะกาลิมันตัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร
ประเภทใบอนุญาต: ได้รับใบอนุญาตการทำเหมืองจากรัฐบาลเป็นระยะเวลา 30 ปี
คุณภาพถ่านหิน: คุณภาพดี ค่าความร้อนสูงประมาณ 6,300 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม
ปริมาณสำรอง: 46.5 ล้านตัน
สถานะปัจจุบัน: ได้ติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและเริ่มทำการผลิตมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2540
กำลังการผลิต: 3.5 ล้านตัน/ปี
การตลาด: ถ่านหินที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี มีรายได้เป็นเงินเหรียญสหรัฐ
ความสำคัญ: ปริมาณถ่านหินที่ผลิตได้คิดเป็นร้อยละ 4 ของถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่เป็น อันดับที่ 7 และ ผู้ส่งออกอันดับที่ 5 ของประเทศอินโดนีเซีย
2.เหมืองคิทาดิน (Kitadin)
สัดส่วนหุ้นที่ให้ประมูล: ร้อยละ 100
ที่ตั้ง: ทิศตะวันออกของเกาะกาลิมันตัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร
ประเภทใบอนุญาต: ได้รับใบอนุญาตการทำเหมืองจากรัฐบาลเป็นระยะเวลา 10 ปี
และต่ออายุได้อีก 10 ปี
คุณภาพถ่านหิน: คุณภาพดี ค่าความร้อนสูงประมาณ 6,300-6,700 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม
ปริมาณสำรอง: 27 ล้านตัน
สถานะปัจจุบัน: เริ่มทำการผลิตมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2527
กำลังการผลิต: 1.5 ล้านตัน/ปี
การตลาด: จำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
3.โครงการทรูบาอินโด (Trubaindo)
สัดส่วนหุ้นที่ให้ประมูล: ร้อยละ 65
ที่ตั้ง: ทิศตะวันออกของเกาะกาลิมันตัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร
ประเภทใบอนุญาต: ได้รับใบอนุญาตการทำเหมืองจากรัฐบาลเป็นระยะเวลา 30 ปี
และต่ออายุได้อีก
คุณภาพถ่านหิน: คุณภาพดี ค่าความร้อนสูงประมาณ 6,700 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม
ปริมาณสำรอง: 22 ล้านตัน
สถานะปัจจุบัน: ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2533 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อเตรียมการผลิต
ในปี พ.ศ.2547
4.โครงการบาราเซ็นโตซา (Barasentosa)
สัดส่วนหุ้นที่ให้ประมูล: ร้อยละ 86
ที่ตั้ง: ทิศใต้ของเกาะสุมาตรา ขนาดพื้นที่ประมาณ 440 ตารางกิโลเมตร
ประเภทใบอนุญาต: ได้รับใบอนุญาตการทำเหมืองจากรัฐบาลเป็นระยะเวลา 30 ปี
และต่ออายุได้อีก
คุณภาพถ่านหิน: คุณภาพปานกลาง ค่าความร้อนประมาณ 5,000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม
ปริมาณสำรอง: 87 ล้านตัน
สถานะปัจจุบัน: ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม
ข้อมูลประกอบข่าว
สถานการณ์ถ่านหินในภูมิภาคเอเซีย
การผลิตและการใช้ในภาพรวม
ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซียคือประเทศออสเตรเลีย รองลงมาคือประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ และอินโดนีเซียตามลำดับ ปริมาณการส่งออกจาก 3 แหล่งดังกล่าวรวมกันคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณถ่านหินส่งออกของโลก
ในทวีปเอเซีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ใช้รายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือประเทศไต้หวัน และเกาหลี ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงราคาถ่านหินจึงเกิดขึ้นจากการตกลงระหว่างประเทศผู้ใช้และผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นหลัก
การผลิตในประเทศอินโดนีเซีย
การผลิตถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียได้เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบทศวรรษที่ผ่านมาจากไม่ถึง 10 ล้านตันในปี 2532 เป็นกว่า 60 ล้านตันในปี 2542 ในปี 2541 ผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1 ล้านตันต่อปีจำนวน 10 รายรวมกันมีปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 97 ของปริมาณการผลิตของทั้งประเทศ โดยมีอินโดมิงโกเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ดังแสดงในภาพ
การส่งออกถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย
ประมาณร้อยละ 80 ของถ่านหินที่ผลิตได้ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ กราฟแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรายใหญ่ 9 รายของประเทศมีสัดส่วนการส่งออกถ่านหินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 87 ของการส่งออกในปี 2541 โดยมีอินโดมิงโกเป็นผู้ส่งออกรายใหญเป็นอันดับที่ 5
ปริมาณสำรองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองถ่านหินมากเป็นอันดับที่สามของโลก คือ 36 พันล้านตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดกระจายอยู่ในเกาะใหญ่ 2 เกาะคือ 24.7 พันล้านตันในเกาะสุมาตรา และ 11.8 พันล้านตันในเกาะกาลิมันตัน
ความสามารถในการแข่งขันของถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย
-คุณภาพของถ่านหิน
คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งได้เปรียบถ่านหินที่ผลิตได้จากแหล่งอื่นๆคือเป็นถ่านหินที่มีปริมาณขี้เถ้าและซัลเฟอร์ต่ำ ส่งผลให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสะอาดที่สุดประเภทหนึ่ง ประเภทของถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมีตั้งแต่ลิกไนต์ ไปจนถึงซับ-บิทูมินัส และบิทูมินัส ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงผลิตปูนซีเมนต์ ไปจนถึงโรงงานถลุงเหล็ก
-ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซีย
ข้อได้เปรียบที่สำคัญคือแหล่งถ่านหินส่วนใหญ่ของประเทศอินโดนีเซียจะตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล คือจะกระจายตัวอยู่ตามฝั่งตะวันออกและตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งที่ตั้งอยู่บนเกาะกาลิมันตัน ทำให้สามารถขนส่งออกทางทะเลได้สะดวกและมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับถ่านหินที่ผลิตได้จากภูมิภาคอื่นๆของโลก อีกประการหนึ่งคือทำเลที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซียอยู่ใกล้กับประเทศผู้ใช้มากกว่าออสเตรเลียและแอฟริกาทำให้มีค่าขนส่งที่ต่ำกว่า
ข้อได้เปรียบทั้งสองประการนี้ทำให้ถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆทั้งในปัจจุบันและอนาคต
คาดการณ์สถานการณ์ถ่านหิน
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในภูมิภาคเอเซียนับตั้งแต่ปี 1997 ส่งผลให้ความต้องการใช้ถ่านหินลดลงและเป็นผลให้ราคาถ่านหินตกลงจนถึงจุดต่ำสุดในปี 2000 ปัจจุบันราคาซื้อขายถ่านหินระยะยาวซึ่งเป็นราคาที่ตกลงกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศออสเตรเลียอยู่ที่ระดับ 28.75 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจากปี 1995 จำนวน 11.55 เหรียญสหรัฐ ผู้ผลิตถ่านหินหลายรายต้องปิดกิจการลงเนื่องจากไม่สามารถแบกรับสภาวะขาดทุนได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่านับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นไป ความต้องการใช้ถ่านหินในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเซีย เป็นผลให้ตลาดถ่านหินอยู่ในภาวะตึงตัว ประมาณการว่าความต้องการใช้ถ่านหินของภูมิภาคเอเซียในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 185 ล้านตัน เทียบกับ 173 ล้านตันในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ และในเดือนเมษายน 2001 ที่จะถึงประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียจะทำการปรับราคาซื้อขายถ่านหินกันอีกครั้ง คาดว่าราคาซื้อขายถ่านหินระยะยาวจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ โดยราคาขายขั้นต่ำสุดจะสูงกว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ที่มา: จากนิตยสาร COALTRANS ฉบับเดือนมกราคม/กุมภาพันธ์ 2001
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 2070730 - 1
โทรสาร 2070696--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ