กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สสว.
สสว. ร่วมกับ 18 หน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าแผนบูรณาการขับเคลื่อน SME ปี 2560 วงเงิน 3,487.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,526.40 ล้านบาทในปี 2559 มุ่งสร้าง SME รายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และSME เกษตร พัฒนา SME ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วให้เติบโตได้เต็มศักยภาพจนสามารถเข้าสู่ระดับสากล ในส่วน SME ที่ประสบปัญหาก็เร่งฟื้นฟูกิจการ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาท รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอกชนทำธุรกิจได้สะดวกขึ้น (Ease of Doing Business) ควบคู่กันไปกับมาตรการด้านการเงิน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการด้านภาษี อีกกว่า 450,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของ SME ในทุกช่วงวงจรธุรกิจ
จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและบูรณาการงานส่งเสริม SME ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งเสริม SME เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศตามเป้าหมายที่กำหนด โดยปี 2560 นับเป็นปีที่ 2 ของการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริม SME ของประเทศ
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 สสว. ได้ร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจรวม 17 หน่วยงาน 1รัฐวิสาหกิจ จัดทำแผนงานบูรณาการด้านการส่งเสริม SME วงเงิน 3,487.34 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นแผนงานในการขับเคลื่อน SME ปี 2560 ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม SME ตามระดับการเติบโตของธุรกิจ (Business Life Cycle) ด้วยการสนับสนุนผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในภาคเกษตร ภาคการผลิตและบริการ ให้สามารถพัฒนาแนวคิดไปสู่ธุรกิจได้จริง ผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชนและ OTOP ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วได้รับการพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยเน้นว่าการส่งเสริมพัฒนาจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นไปอย่างต่อเนื่องกันทุกปี การพัฒนาส่งเสริมSME แบบบูรณาการประกอบด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่
แนวทางที่ 1 สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมแบบครบวงจร (Start Up) และสร้าง SME เกษตร จากวิสาหกิจชุมชนและ Smart Farmer โดยให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในสาขาที่มูลค่าเพิ่มสูง การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้ประกอบการโดยใช้ผลงานวิจัยและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านระบบการบ่มเพาะและอบรมเชิงลึก จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนและการตลาด ได้รับอนุมัติวงเงินรวม 1,673 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการประมาณ 41,100 ราย
แนวทางที่ 2 ส่งเสริมให้ SME กลุ่มทั่วไป (Regular) มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ เชื่อมโยงกับมาตรการทางการเงินของกระทรวงการคลังเพื่อฟื้นฟูกิจการ มุ่งพัฒนาศักยภาพ SME ในสาขาเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป ฮาลาล ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาการรวมกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในรูปแบบคลัสเตอร์ รวมถึงการขยายโอกาสทางการตลาดโดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ฯลฯ ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,130 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการประมาณ 106,000 ราย
แนวทางที่ 3 ส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพ (Strong) ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สามารถส่งออกสินค้าและบริการสู่ตลาดโลกได้ โดยให้ความสำคัญกับการสร้าง Brand การยกระดับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน สินค้าและบริการ การสร้างเครือข่ายกับธุรกิจขนาดใหญ่ในโครงการประชารัฐแบบพี่ช่วยน้อง ฯลฯ ได้รับจัดสรรวงเงิน 355 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์ 4,000 ราย
แนวทางที่ 4 พัฒนาระบบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนและการส่งเสริม SME(Ecosystem) มุ่งเน้นปรับปรุงการบริหารจัดการงานส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสร้างต้นแบบการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สร้างนักบัญชีคุณภาพ ขยายศูนย์บริการข้อมูล SME (One-stop Service Center: OSS) ฯลฯ ได้รับจัดสรรวงเงิน 328 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์ประมาณ 26,000 ราย
สำหรับปี 2560 งบบูรณาการ SME ได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้นเป็น 3,487 ล้านบาท มุ่งหวังให้SME ได้รับการยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และคาดว่าจะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 177,100 ราย เป็นผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 45,000 ล้านบาท โดย สสว. มีหน้าที่ติดตามประเมินผลโครงการ ตามงบบูรณาการเพื่อนำเสนอ ครม. ควบคู่กันไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังให้ความสำคัญ ด้วยการออกมาตรการทางการเงินและภาษี ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมวงเงินในการให้ความช่วยเหลือกว่า 435,000 ล้านบาท เช่น สินเชื่อเพื่อรายย่อย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SME และล่าสุดที่กำลังจะเริ่มดำเนินการคือ กองทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ SME วงเงิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนพลิกฟื้น SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงมาตรการด้านภาษีสำหรับSME ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านมาตรการทางการเงิน ไม่น้อยกว่า 48,000 ราย ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดทำงบประมาณลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริม SMEs มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 15 หน่วยงาน วงเงิน 1,526.40 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานโดยสามารถสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 17,134 ราย เพิ่มผลิตภาพของ SME จำนวน 30,539 ราย เพิ่มมูลค่าการส่งออกของ SME จำนวน 1,702 ราย ทั้งนี้ คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์ รวม 49,375 ราย